ประโยคที่กิริยาซ้อนกัน

1. ต + วัตตมานา (ปูชิโต โหติ)

แสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว (ต ปัจจัย) และยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน (วัตตมานา).  แปลว่า ...แล้วอยู่ (สำนวนไทยนิยมว่า แล้ว หรือ อยู่. อย่างใดอย่างหนึ่ง)

ผลของการกระทำ(จากอดีต)นั้นยังดำรงอยู่.  และมุ่งหมายถึงผลในปัจจุบัน ไม่ใช่อดีต   (= Present perfect tense)

เปรียบเทียบ: ปูชิโต. พูดถึงอดีต    ปูชิโต โหติ. พูดถึงปัจจุบันที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากอดีต

  • โส นิสินฺโน โหติ.  เขานั่งแล้ว. (เขามานั่งเมื่อสักครู่  ขณะที่กล่าวถึง ก็ยังนั่งอยู่)
  • อญฺญญตโร ภิกฺขุ อมนุสฺเสน คหิโต โหติ.  ภิกษุรูปหนึ่งถูกอมนุษย์เข้าสิงแล้ว. (ขณะที่กล่าวถึง ก็ยังถูกสิงอยู่)
  • ตถาคโต สกฺกโต โหติ.  ประชาชนสักการะพระตถาคตอยู่. (สักการะมานานแล้ว ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน)
2. ต + สัตตมี (มโต ภเวยฺย)

แสดงเหตุการณ์ที่ผู้พูดคาดคะเนว่าน่าจะเกิดขึ้นแล้ว.  สำนวนไทยว่า คงจะ/น่าจะ...แล้ว

เปรียบเทียบ: มโต ตายแล้ว (ตายจริงๆ).    มโต ภเวยฺย (คาดว่า) น่าจะตายแล้ว (ความจริง อาจจะตายแล้ว หรือยังไม่ตายก็ได้)

  • เอวมหมฺปิ  สนฺตปฺปิโต ภเวยฺยํ อนฺตรวาสเกน.  (ถ้าเธอให้) แม้อาตมาก็น่าจะอิ่มเอิบด้วยผ้าอันตรวาสก เหมือนเช่นนั้น.
    (ต ปัจ. ในประโยคนี้ เป็นเหมือนคุณนาม จะไม่แปลว่าแล้วก็ได้)
  • สา อิตฺถี อาคตา ภเวยฺย.  ผู้พูดคาดว่า หญิงนั้นน่าจะมาแล้ว
  • ตํ กมฺมํ กตํ ภเวยฺย.  คาดว่า ผู้นั้นคงจะทำกรรมนั้นแล้ว
3. ต + ภวิสสันติ (มโต ภวิสฺสติ)

แสดงเหตุการณ์ที่ผู้พูดแน่ใจต้องเกิดขึ้นแล้วแน่ๆ   สำนวนไทยว่า ต้อง...แล้ว (แน่)

เปรียบเทียบ: มโต ตายแล้ว (ตายจริงๆ).    มโต ภวิสฺสติ (แน่ใจว่า) ตายไปแล้ว (ความจริง อาจจะตายแล้ว หรือยังไม่ตายก็ได้)

  • อุโปสถทิวเส ปน อคฺคึ น ชาเลสิ.  นูน มโต ภวิสฺสติ.  แน่ใจว่า ดาบสนั้นต้องตายแล้ว
  • อยํ (รุกฺโข) มเหสกฺขาย เทวตาย ปริคฺคหิโต ภวิสฺสติ.  แน่ใจว่า ต้นไม้นี้ต้องมีเทวดาสิงอยู่แล้วแน่
  • ทีฆทสฺสินา พุทฺเธน การณํ ทิฏฺฐํ ภวิสฺสติ.  แน่ใจว่า พระพุทธเจ้า ทรงเห็นกาลไกล จักทรงเห็นการณ์
4. ตพฺพ + โหติ (กาตพฺพํ โหติ)

แสดงเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งที่ต้องทำ (must)  เน้นเวลาปัจจุบัน (วัตตมานา)  สำนวนไทยว่า ต้อง...

เปรียบเทียบ: กาตพฺโพ ต้องทำ.  กาตพฺโพ โหติ ต้องทำ (เดี๋ยวนี้ ช่วงนี้)

วิภัตติกิริยาอาขยาตไม่มีหมวดใดที่แปลว่า "ต้อง" (มีเพียงวิภัตติหมวดสัตตมี ที่แปลว่า "ควร, พึง")
จึงต้องไปใช้กิริยากิตก์ ตพฺพ ปัจจัย แทน)

  • ชิณฺณวิหาเร ปน พหุ ปฏิชคฺคิตพฺพํ โหติ. (วิสุทฺธิ.1/151)
    ก็ในวิหารเก่า สิ่งที่จะต้องดูแลมีมาก.
  • สเจ ปสฺสติ ปานียฆฏํ ริตฺตํ. อถาเนน วตฺตํ กาตพฺพํ โหติ.
    ถ้าเธอ เห็นหม้อน้ำดื่มที่ว่างเปล่า ทีนั้น เธอจะต้องกระทำวัตร.
5. ตพฺพ +ภวิสฺสติ (ทาตพฺพํ ภวิสฺสติ)

แสดงเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งที่ต้องทำ (will have to)*  เน้นเวลาอนาคต (ภวิสสติ)  สำนวนไทยว่า จะ/จักต้อง...

เปรียบเทียบ: กาตพฺโพ ต้องทำ.  กาตพฺโพ ภวิสฺสติ จะ/จักต้องทำ.

(* will have to เป็นรูปอนาคตของ must)

  • สเจ สุวณฺณการสฺส อาจิกฺขิสฺสามิ.  เวตนํ ทาตพฺพํ ภวิสฺสติ.
    ถ้าจะบอกแก่นายช่างทอง ก็ต้องให้ค่าจ้าง.
อนฺต มาน + ตฺวา ฯลฯ  (นิปฺปชฺชนฺโต สทฺทํ สุตฺวา)

เมื่อเหตุการณ์หนึ่งกำลังดำเนินไปอยู่ (อนฺต มาน ปัจจัย)  ก็มีเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งเกิด(แทรก)ขึ้นมา (ตฺวา ปัจจัย หรือกิริยาอื่นๆ)  สำนวนไทยว่า เมื่อ, กำลัง.., เมื่อ....อยู่.

  • โส อรญฺญํ คจฺฉนฺโต อนฺตรามคฺเค โจเร ทิสฺวา ปกฺกามิ.
  • เขา เมื่อเดินไป ก็เห็นพวกโจร ในระหว่างทาง จึงหลีกไปแล้ว.
  • สามเณโร นิปฺปชฺชนฺโต ตํ สทฺทํ สุตฺวา อุฏฺฐหิ.
  • สามเณร เมื่อนอนอยู่ ได้ยินเสียงนั้นแล้ว จึงลุกขึ้นแล้ว.
ตฺวา +อนฺต มาน ฯลฯ  (ฐตฺวา วีชยมาโน)

แสดงเหตุการณ์ที่ทำกิริยาสองอย่างพร้อมกัน (กิริยาตัวแรก ลง ตฺวา ปัจจัย สมานกาลกิริยา)

  • โส เอวํ จินฺเตนฺโต  ฐตฺวา วีชยมาโน ว  เถรสฺส สีสํ ตาลวณฺเฏน ปหริ.  (ธ.อ.2/131)
  • พระสังฆรักขิตนั้น คิดอยู่อย่างนี้  เมื่อยืนพัดอยู่นั่นเอง ถือเอาพัดก้านตาลตีศีรษะของพระเถระเจ้า.  (กิริยายืน ทำพร้อมกับกิริยาพัด)
  • โลฬุทายิตฺเถโร อาสเน นิสีทิตฺวา จิตฺตวีชนึ คเหตฺวา จาเลนฺโต โอตริ.  (ธ.อ.7/12)
  • พระโลฬุทายี นั่งบนอาสนะแล้ว จึงจับพัดอันวิจิตรสั่นอยู่ ...  (กิริยาจับพัด ทำพร้อมกับกิริยาสั่น)

ความคิดเห็น

Restricted HTML

  • Allowed HTML tags: <a href hreflang> <em> <strong> <cite> <blockquote cite> <code> <ul type> <ol start type> <li> <dl> <dt> <dd> <h2 id> <h3 id> <h4 id> <h5 id> <h6 id>
  • Lines and paragraphs break automatically.
  • Web page addresses and email addresses turn into links automatically.