สารบัญ
ชีทประกอบการศึกษา: การเขียนบาลีอักษรไทย • ผังสมัญญาภิธาน
อักขระ
เสียงก็ดี ตัวหนังสือก็ดี ชื่อว่า อักขระ
อักขระ แปลว่า ไม่รู้จักสิ้น, ไม่เป็นของแข็ง
อักขระในภาษาบาลีมี 41 ตัว
แบ่งเป็นสระ 8 ตัว คือ
อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
แบ่งเป็นพยัญชนะ 33 ตัว คือ
กฺ ขฺ คฺ ฆฺ งฺ,
จฺ ฉฺ ชฺ ฌฺ ญฺ,
ฏฺ ฐฺ ฑฺ ฒฺ ณฺ,
ตฺ ถฺ ทฺ ธฺ นฺ,
ปฺ ผฺ พฺ ภฺ มฺ,
ยฺ รฺ ลฺ วฺ สฺ หฺ ฬฺ ํ
สระ
ในอักขระ 41 ตัวนั้น อักขระเบื้องต้น 8 ตัว ตั้งแต่ อ ถึง โอ ชื่อ สระ
สระออกเสียงได้ตามลำพังตนเอง และทำพยัญชนะให้ออกเสียงได้ด้วย
สระ 8 ตัวนี้ ชื่อ นิสสัย เพราะเป็นที่อาศัยของพยัญชนะ (ในการออกเสียง)
สระ จัดเป็น รัสสะ ทีฆะ ครุ ลหุ วรรณะ
รัสสะ ทีฆะ (สั้น-ยาว)
สระ (ที่มีมาตราเบา1) 3 ตัว คือ อ อิ อุ ชื่อ รัสสะ เพราะมีเสียงสั้น เช่น อติ ครุ
สระ 5 ตัว คือ อา อี อู เอ โอ ชื่อ ทีฆะ เพราะมีเสียงยาว เช่น ภาคี เสโข
เฉพาะ เอ โอ ถ้ามีพยัญชนะสังโยคซ้อนอยู่เบื้องหลัง ให้ออกเสียงเป็นรัสสะ เช่น เสยฺโย (เซ็ย-โย)2 โสตฺถิ (สด-ถิ) เอตฺถ (เอ็ด-ถะ) เสฏฺฐี (เส็ด-) โอฏฺโฐ (อด-โถ) โหนฺติ (หน-ติ)3
1 มาตราเบา หรือมาตราเร็ว (ลหุ ค. เร็ว, พลัน, เบา)
2 คำว่า เสยฺโย ไม่อ่านว่า เสย-โย (เช่นในคำว่า เขาเอามือเสยผม) เพราะภาษาบาลีไม่มีสระเออ
และไม่อ่านว่า ไส-โย เพราะ "เสียงสระไอ" ในภาษาบาลีอักษรไทย เขียนด้วยสระ อ สะกดด้วย ยฺ เช่น มยฺหํ (ไม-หัง) อยฺโย (ไอ-โย)
3 ในคัมภีร์นิรุตติทีปนี มีอธิบายว่า เอ โอ ที่ให้ออกเสียงเป็นรัสสะนั้น ต้องมีสังโยคอยู่ในบทเดียวกัน และไม่ใช่พยัญชนะที่สุดวรรค งฺ ญฺ ณฺ นฺ มฺ หรือ ยฺ รฺ ลฺ วฺ ฉะนั้น หากถือตามมตินี้ เอ โอ ในคำว่า โหนฺติ เทเสนฺโต เสยฺโย โสณฺโฑ จึงออกเสียงเป็นทีฆะตามปกติ
ลหุ ครุ (เบา-หนัก)
สระที่เป็นรัสสะล้วน ไม่มีพยัญชนะสังโยคหรือนิคคหิตอยู่เบื้องหลัง ชื่อ ลหุ เพราะมีเสียงเบา เช่น ปติ มุนิ
สระที่เป็นทีฆะ* และสระที่เป็นรัสสะที่มีพยัญชนะสังโยคหรือนิคคหิตอยู่เบื้องหลัง ชื่อ ครุ เพราะมีเสียงหนัก เช่น ภูปาโล เอสี; สาตฺถํ ตฺยาสฺส; มนุสฺสินฺโท; โกเสยฺยํ **
* ในแบบว่า “สระที่เป็นทีฆะล้วน” แต่ทีฆสระ (รวมทั้ง เอ โอ) ไม่ว่าจะมีตัวสะกดหรือไม่ จัดเป็นครุเสมอ
(เอ โอ ไม่มีตัวสะกด จัดเป็นครุ เพราะมีเสียงยาว
เอ โอ มีตัวสะกด (เอ โอ ออกเสียงสั้นหรือยาวก็ตาม) จัดเป็นครุ เพราะมีตัวสะกด)
** ครุ 4 ประเภท: (1) สระที่เป็นทีฆะล้วน (ทีฆครุ) เช่น ภูปาโล เอสี (2) สระที่มีพยัญชนะสังโยคอยู่เบื้องหลัง (สังโยคาทิครุ) เช่น สาตฺถํ ตฺยาสฺส; มนุสฺสินฺโท (3) สระที่เป็นรัสสะ มีนิคคหิตอยู่เบื้องหลัง (นิคคหิตครุ) เช่น โกเสยฺยํ (4) สระท้ายบาทคาถา แม้เป็นสระเสียงสั้น ก็ถือว่าเป็นครุ (ปาทันตครุ)
วัณณะ
สระ จัดเป็น 3 คู่ (ตามที่เกิดในฐานเดียวกัน) คือ
อ อา | เรียก อวัณณะ |
อิ อี | เรียก อิวัณณะ |
อุ อู | เรียก อุวัณณะ |
สังยุตตสระ (สระผสม)
เอ โอ เรียก สังยุตตสระ
เพราะผสมเสียงสระไว้ 2 ตัว คือ
อ กับ อิ ผสมกันเป็น เอ
อ กับ อุ ผสมกันเป็น โอ*
* เสียง เอ เกิดใน 2 ฐาน คือ ฐานของ อ กับ อิ ร่วมกัน เสียง โอ เกิดใน 2 ฐาน คือ ฐานของ อ กับ อุ ร่วมกัน
พยัญชนะ
อักขระ(ที่เหลือจากสระนั้น) 33 ตัว มี กฺ เป็นต้น มีนิคคหิตเป็นที่สุด ชื่อ พยัญชนะ (แปลว่า ทำเนื้อความให้ปรากฏ)
พยัญชนะ(เหล่านี้) ชื่อว่า นิสสิต เพราะอาศัยสระจึงออกเสียงได้ และทำเนื้อความของสระให้ปรากฏชัดขึ้น
(เช่น เสียงสระว่า “ไอ ไอ๋ อา” เมื่อประกอบด้วยพยัญชนะต่างๆ แล้ว จึงออกเสียงได้ว่า “ไปไหนมา”)
พยัญชนะ 33 ตัวนี้ จัดเป็น 2 พวก คือ วรรค และ อวรรค
วรรค
พยัญชนะที่จัดเป็นพวกๆ ตามฐานกรณ์ (ที่เกิดที่ทำเสียง) ชื่อว่า วรรค มี 25 ตัว คือ
ก วรรค: | กฺ | ขฺ | คฺ | ฆฺ | งฺ |
จ วรรค: | จฺ | ฉฺ | ชฺ | ฌฺ | ญฺ |
ฏ วรรค: | ฏฺ | ฐฺ | ฑฺ | ฒฺ | ณฺ |
ต วรรค: | ตฺ | ถฺ | ทฺ | ธฺ | นฺ |
ป วรรค: | ปฺ | ผฺ | พฺ | ภฺ | มฺ |
อวรรค
พยัญชนะที่ไม่จัดเป็นพวกๆ ชื่อว่า อวรรค มี 8 ตัว คือ ยฺ รฺ ลฺ วฺ สฺ หฺ ฬฺ ํ
นิคคหิต-อนุสาร
พยัญชนะคือ ํ (ออกเสียงว่า ‘อัง’) เรียกว่า นิคคหิต ตามศาสนโวหาร เรียกว่า อนุสาร ตามคัมภีร์ศัพทศาสตร์
นิคคหิต แปลว่า 'กด' หมายถึง กดสระ หรือ กดกรณ์* ไว้ (เมื่อออกเสียง ปากไม่ต้องอ้ามาก เหมือนเวลาออกเสียงทีฆสระ – ออกเสียงเทียบ ระหว่าง อา กับ อํ)
* กรณ์คืออวัยวะที่ทำเสียง
อนุสาร แปลว่า 'ไปตาม' หมายถึง ไปตามสระ เพราะต้องไปตามหลังรัสสสระ คือ อ อิ อุ เช่น อหํ เสตุํ อกาสึ
ตารางอักขระ และฐานกรณ์ (ดู ชีทประกอบการศึกษา: ผังสมัญญาภิธาน 1)
* หฺ เกิดที่คอ (กัณฐชะ) แต่ หฺ ที่อยู่หลัง ญฺ ณฺ นฺ มฺ ย ลฺ วฺ ฬฺ เกิดที่อก เรียกว่า อุรชะ
** รัสสะที่มีสังโยค หรือนิคคหิต จัดเป็น ครุ. ส่วนทีฆะ จัดเป็น ครุ เสมอ ไม่ว่าจะมีสังโยคหรือไม่มีสังโยค
ฐานของอักขระ
ฐานที่ตั้งที่เกิดของอักขระ มี 6 คือ
- กัณฐะ คอ
- ตาลุ เพดาน(ปาก)
- มุทธา ปุ่มเหงือก*
- ทันตะ ฟัน
- โอฏฐะ ริมฝีปาก
- นาสิกา จมูก
* ฐาน คือ มุทฺธา แปลว่า ยอด, ศีรษะ หมายถึง ยอด/ศีรษะ ของเหงือก (บริเวณโคนฟันบน) เรียกว่า ปุ่มเหงือก (gum ridge ส่วนที่นูนของเหงือก)
ไม่ใช่ทั้งศีรษะ (ที่มีตา จมูก ปาก) (ในรูปคือ มุทฺธา ฐานที่ 3 ซึ่งมีกรณ์ คือ ชิวฺโหปคฺค ลิ้นส่วนใกล้ปลายลิ้น เคลื่อนไปยังจุดนี้)
อักขระบางเหล่าเกิดในฐานเดียว บางเหล่าเกิดใน 2 ฐาน
อักขระที่เกิดในฐานเดียว:
อ อา อิ อี อุ อู, พยัญชนะวรรคทั้งหมด (ยกเว้นพยัญชนะที่สุดวรรค 5 ตัว) และพยัญชนะอวรรค คือ ยฺ รฺ ลฺ สฺ หฺ ฬฺ ํ
อ อา | กฺ ขฺ คฺ ฆฺ งฺ | หฺ * | เกิดที่คอ | เรียกว่า กัณฐชะ |
อิ อี | จฺ ฉฺ ชฺ ฌฺ ญฺ | ยฺ | เกิดที่เพดาน | เรียกว่า ตาลุชะ |
ฏฺ ฐฺ ฑฺ ฒฺ ณฺ | รฺ ฬฺ | เกิดที่ปุ่มเหงือก | เรียกว่า มุทธชะ | |
ตฺ ถฺ ทฺ ธฺ นฺ | ลฺ สฺ | เกิดที่ฟัน | เรียกว่า ทันตชะ | |
อุ อู | ปฺ ผฺ พฺ ภฺ มฺ | เกิดที่ริมฝีปาก | เรียกว่า โอฏฐชะ | |
ํ (นิคคหิต) | เกิดที่จมูก | เรียกว่า นาสิกัฏฐานชะ** | ||
* หฺ ที่อยู่หลัง ญฺ ณฺ นฺ มฺ; ยฺ ลฺ วฺ ฬฺ | เกิดที่อก | เรียกว่า อุรชะ |
** นิคคหิต เกิดที่จมูก เรียกว่า นาสิกัฏฐานชะ ในแบบฯ เขียนเป็นแบบบาลี ลงวิภัตติว่า นาสิกฏฺฐานชา ซึ่งน่าจะเป็น (นิคฺคหีตํ) นาสิกฏฺฐานชํ เพราะเป็นเอกวจนะ (กล่าวถึง นิคคหิต อักขระเดียวตัวเดียว) และนปุงสกลิงค์ (ไม่ได้เป็นอิตถีลิงค์) ฉะนั้น เพื่อความสะดวกแก่นักเรียน กันความสับสน ในเว็บนี้จึงเขียนชื่อบาลีต่างๆ เป็นภาษาไทยในรูปทับศัพท์ทั้งหมด. ตัวอื่นๆ เช่น หฺ มีตัวเดียว จึงไม่เป็น กณฺฐชา หรือ อุรชา
อักขระที่เกิดใน 2 ฐาน (พร้อมกัน):
งฺ ญฺ ณฺ นฺ มฺ | เกิดที่ฐานของตนและจมูก | เรียกว่า สกัฏฐานนาสิกัฏฐานชะ |
เอ | เกิดที่คอและเพดาน | เรียกว่า กัณฐตาลุชะ |
โอ | เกิดที่คอและริมฝีปาก | เรียกว่า กัณโฐฏฐชะ |
วฺ | เกิดที่ฟันและริมฝีปาก | เรียกว่า ทันโตฏฐชะ |
กรณ์ของอักขระ
กรณ์เครื่องทำอักขระ มี 4 อย่างคือ
ชิวหามัชฌะ | ท่ามกลางลิ้น | เป็นกรณ์ของอักขระที่เป็น ตาลุชะ |
ชิวโหปัคคะ | ถัดปลายลิ้นเข้ามา | เป็นกรณ์ของอักขระที่เป็น มุทธชะ |
ชิวหัคคะ | ปลายลิ้น | เป็นกรณ์ของอักขระที่เป็น ทันตชะ |
สกัฏฐานะ | ฐานของตน | เป็นกรณ์ของอักขระที่เหลือจากนี้ทั้งหมด (คือ กัณฐชะ โอฏฐชะ นาสิกัฏฐานชะ กับ วฺ และ เอ โอ) |
ปยตนะ ความพยายามในการเปล่งเสียง
ความพยายามในการ | ได้แก่อักษร | |
สํวุตปยตนะ | ปิดฐานกรณ์ | อ |
วิวฏปยตนะ | เปิดฐานกรณ์ | อา อิ อี อุ อู เอ โอ; สฺ หฺ |
ผุฏฺฐปยตนะ | ทำให้ฐานกรณ์กระทบกันหนัก | พยัญชนะวรรค 25 ตัว |
อีสํผุฏฺฐปยตนะ | ทำให้ฐานกรณ์กระทบกันเล็กน้อย | ยฺ รฺ ลฺ วฺ |
เสียงของอักขระ
มาตรา (ความยาวของเสียง 1 พยางค์ *)
รัสสสระ | 1 มาตรา | (ประมาณ 0.5 วินาที) |
ทีฆสระ | 2 มาตรา | (ประมาณ 1 วินาที) |
สระที่มีพยัญชนะสังโยคอยู่เบื้องหลัง | 3 มาตรา | (ประมาณ 1.5 วินาที) |
พยัญชนะทุกตัว | ครึ่งมาตรา | (ประมาณ 0.25 วินาที) |
* พยางค์ คือ ส่วนของคำที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ เช่น จ, ตุ, ทฺเว/เทฺว มี 1 พยางค์; ปน, เทว มี 2 พยางค์; วฺยาปาท พยาบาท มี 3 พยางค์
เสียงของสระ (กล่าวไว้แล้วในตอนต้น)
รัสสะ ทีฆะ (สั้น-ยาว)
ลหุ ครุ (เบา-หนัก)
เสียงของพยัญชนะ
โฆสะ อโฆสะ (ก้อง-ไม่ก้อง)
พยัญชนะที่มีเสียงก้อง เรียกว่า โฆสะ
ที่มีเสียงไม่ก้อง เรียกว่า อโฆสะ
พยัญชนะที่ 1 ที่ 2 ในวรรคทั้ง 5 คือ กฺ ขฺ, จฺ ฉฺ, ฏฺ ฐฺ, ตฺ ถฺ, ปฺ ผฺ และ สฺ 11 ตัวนี้เป็น อโฆสะ
พยัญชนะที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ในวรรคทั้ง 5 คือ คฺ ฆฺ งฺ, ฌฺ ชฺ ญฺ, ฑฺ ฒฺ ณฺ, ทฺ ธฺ นฺ, พฺ ภฺ มฺ และ ยฺ รฺ ลฺ วฺ หฺ ฬฺ 21 ตัวนี้เป็น โฆสะ
นิคคหิต นักปราชญ์ผู้รู้ศัพทศาสตร์ ประสงค์เป็น โฆสะ
ส่วนนักปราชญ์ฝ่ายศาสนา ประสงค์เป็น โฆสาโฆสวิมุตติ (พ้นจากโฆสะและอโฆสะ)
เสียงนิคคหิตนี้
อ่านตามวิธีภาษาบาลี มีเสียงเหมือน งฺ สะกด (พุทฺธํ พุท-ธัง)
อ่านตามวิธีสันสกฤต มีเสียงเหมือน มฺ สะกด (พุทฺธํ/พุทฺธมฺ พุท-ธัม)
สิถิล ธนิต (เบา-อ่อน-หย่อน – ดัง-แข็ง-หนัก)
พยัญชนะที่ถูกฐานตัวเองหย่อนๆ มีเสียงเบา ชื่อ สิถิล
พยัญชนะที่ถูกฐานของตนหนัก บันลือเสียงดัง ชื่อ ธนิต
พยัญชนะที่ 1 ที่ 3 | ในวรรคทั้ง 5 | เป็น สิถิล |
พยัญชนะที่ 2 ที่ 4 | ในวรรคทั้ง 5 | เป็น ธนิต |
พยัญชนะที่สุดวรรค 5 ตัว | เป็น สิถิล* | |
พยัญชนะอวรรค | ไม่จัดเป็นสิถิล ธนิต |
* เฉพาะคัมภีร์กัจจายนเภท แสดงไว้ว่า พยัญชนะที่สุดวรรค 5 ตัว ก็เป็น สิถิล แต่ในคัมภีร์อื่นไม่ได้กล่าวไว้
พยัญชนะที่เป็น สิถิลอโฆสะ | มีเสียงเบากว่าทุกพยัญชนะ |
พยัญชนะที่เป็น ธนิตอโฆสะ | มีเสียงหนักกว่า สิถิลอโฆสะ |
พยัญชนะที่เป็น สิถิลโฆสะ | มีเสียงดังกว่า ธนิตอโฆสะ |
พยัญชนะที่เป็น ธนิตโฆสะ | มีเสียงดังก้องกว่า สิถิลโฆสะ |
(สิถิลอโฆสะ < ธนิตอโฆสะ < สิถิลโฆสะ < ธนิตโฆสะ)
(เบาไม่ก้อง < หนักไม่ก้อง < เบาก้อง < หนักก้อง)
อัฑฒสระ
อัฑฒสระ ได้แก่ พยัญชนะอวรรค (ยกเว้น ํ นิคคหิต)
พยัญชนะ 4 ตัว คือ ยฺ รฺ ลฺ วฺ ถ้าอยู่หลังพยัญชนะอื่น ออกเสียงผสมกับพยัญชนะตัวหน้า เช่น
ยฺ: พฺยญฺชนํ ตฺยาหํ; รฺ: พฺราหฺมโณ พฺรูหิ ภทฺรานิ; ลฺ: กฺเลโส/เกฺลโส (=กิเลโส ลบ อิ) ปริ ปฺลวติ; วฺ: ทฺวารานิ ตฺวํ
สฺ มีสำเนียงเป็น อุสุมะ* ไม่มีเสียงนี้** ในคำไทย(เดิม) มีแต่คำไทยที่ยืมมาจากบาลีสันสกฤต เช่น อัสดง รัศมี
(สฺ อุสุมะ ตรงกับตัว s ในภาษาอังกฤษ แม้เป็นตัวสะกด เช่น as อสฺมิ หรือไม่มีสระอาศัย เช่น star สฺมา ก็ยังมีเสียงออกมาหน่อยหนึ่ง)
* อุสุโม ไอ, ไอน้ำ, ไออุ่น, ความร้อน, ฤดูร้อน. เรียกพยัญชนะ ที่มีลมเสียดแทรกออกมาตามฟัน ว่ามีเสียง อุสุม ได้แก่เสียง ศ, ษ, ส.
** หมายถึง คำไทยไม่มีเสียง ส ที่แม้เป็นตัวสะกด ก็ยังมีเสียงออกมาหน่อยหนึ่ง แต่คำไทยมีเสียง ส เฉพาะที่เป็นอักษรนำ เช่น สั่งสอน
หฺ ถ้าอยู่หน้าพยัญชนะอื่น ก็ทำให้สระที่อยู่ข้างหน้า หฺ นั้น ออกเสียงมีลมมากขึ้น เช่น พฺรหฺม (พฺรหฺ-มะ) พฺราหฺมณ (พฺราหฺ-มะ-ณะ)
* หฺ มีพยัญชนะอยู่หลัง ไม่มีสระอาศัย ฉะนั้นเสียง หฺ จึงไปรวมเพิ่มลมให้กับสระ (อ-อา) ข้างหน้า (พฺรหฺ-มะ พฺราหฺ-มะณะ) โดยรวมเป็นส่วนหนึ่งของพยางค์หน้า
(หฺ กรณีนี้มีเพียง 2 คำ คือ พฺรหฺม brahma, พฺราหฺมณ brāhmaṇa) แต่ถ้า หฺ นั้นมีสระอยู่ด้วย เช่น พฺรูหิ (พฺรู-หิ) หฺ ก็กลายเป็นอักษรนำของพยางค์หลังไป ไม่มีผลต่อพยางค์แรก
หฺ ถ้าอยู่หลังพยัญชนะ 8 ตัว คือ ญฺ ณฺ นฺ มฺ ยฺ ลฺ วฺ ฬฺ
หฺ ก็มีเสียงเข้าผสมกับพยัญชนะนั้น* เช่น ปญฺหา ตณฺหา มุฬฺโห
* และเกิดที่อก เรียกว่า อุรชะ
พยัญชนะวรรค เป็นมูคะ ไม่มีมาตราเลย เป็นเพียงตัวสะกด ออกเสียงรวมลงในสระเดียวกันกับพยัญชนะวรรคตัวอื่นไม่ได้ เช่น ธมฺโม*
* มูคะ (mute ใบ้) ไม่มีมาตรา คือความยาวเสียงเป็นศูนย์ (๐) ดังนั้น ธมฺโม จึงอ่านว่า ธัม-โม ไม่อ่านว่า ธัม-ม๎-โม, มุฬฺโห อ่านว่า มุฬ-ฬ๎-โห ไม่อ่านว่า มุฬ-โห
มฺ เป็นเพียงตัวสะกด ออกเสียงรวมลงในสระ โอ ร่วมกับ มฺ ตัวหลังไม่ได้
ฬฺ เป็นเพียงตัวสะกด ออกเสียงรวมลงในสระ โอ ร่วมกับ หฺ ข้างหลังไม่ได้
(เครื่องหมาย ๎ เรียกว่า ยามักการ สำหรับบังคับให้อ่านพยัญชนะควบกัน เช่น มุฬ๎โห กล๎ยาณ)
พยัญชนะที่เป็น อัฑฒสระ คือ ยฺ รฺ ลฺ วฺ; สฺ หฺ ฬฺ 7 ตัวนี้มีเสียงกึ่งสระ คือ กึ่งมาตรา เพราะพยัญชนะเหล่านี้
(1) บางตัวก็รวมลงในสระเดียวกันกับพยัญชนะอื่น ออกเสียงพร้อมกันได้ (เช่น พฺยญฺชนํ พฺรหฺม – ได้แก่ ยฺ รฺ ลฺ วฺ; หฺ ที่กล่าวมาแล้ว)
(2) บางตัวแม้เป็นตัวสะกด ก็คงออกเสียงได้หน่อยหนึ่ง พอให้รู้ได้ว่าตัวนั้นสะกด (เช่น กลฺยาณ ยสฺมา ทฬฺห)
* สรุป อัฑฒสระ (2) ตนเองเป็นพยัญชนะ(ล้วน) เป็นตัวสะกด แต่ออกเสียงได้หน่อยหนึ่ง (1) ทำให้พยัญชนะ(ล้วน)ตัวอื่นออกเสียงได้หน่อยหนึ่ง
พยัญชนะสังโยค (เป็นเรื่องของสนธิโดยตรง)
ในพยัญชนะวรรคทั้งหลาย
พยัญชนะที่ 1 | ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ 1 และที่ 2 ในวรรคของตนได้ | เช่น อกฺก, ทกฺข; สจฺจ, วจฺฉ |
พยัญชนะที่ 3 | ซ้อนหน้าพยัญชนะที่ 3 และที่ 4 ในวรรคของตนได้ | เช่น อคฺค, อคฺฆ; อชฺช, อชฺฌาสย |
พยัญชนะที่ 5 | ซ้อนหน้าพยัญชนะในวรรคของตนได้ทั้ง 5 ตัว ยกเว้น งฺ ซ้อนหน้าตัวเองไม่ได้* | เช่น ปงฺก, สงฺข, องฺค, สงฺฆ** |
พยัญชนะอวรรค 3 ตัว คือ ยฺ ลฺ สฺ ซ้อนหน้าตัวเองได้ เช่น อยฺย, อลฺล, อสฺส
* งฺ เป็นตัวสะกดอย่างเดียว ไม่มีเสียงสำเนียงในภาษาบาลี ไม่ใช้เป็นอักษรนำอย่างในภาษาไทย เช่น งอก, งบ (และในภาษาบาลี ง; ฬ ไม่เป็นอักษรนำของคำใดๆ)
** เขียน สํฆ ก็มี
ความคิดเห็น