เกี่ยวกับพจนานุกรมธาตุ

ที่มาของพจนานุกรมฉบับนี้

พจนานุกรมฉบับนี้  มีต้นเดิมมาจากคัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ และธาตวัตถสังคหปาฐนิสสัย เป็นส่วนใหญ่  ซึ่งรจนาโดยพระวิสุทธาจารย์ มหาเถระ.  คัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ  เป็นคัมภีร์ธาตุที่มีเนื้อหาสมบูรณ์ที่สุด  รวบรวมขึ้นด้วยภาษามคธ  เป็นคัมภีร์ธาตุที่นักปราชญ์ทั้งหลายยกย่องว่าเป็นชินวจนานุรูป (สมควรต่อพระดำรัสของพระชินเจ้า)  และนอกจากอาศัยคัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ นี้เป็นหลักแล้ว  ผู้จัดทำยังได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับมติของคัมภีร์เล่มอื่นๆ  เช่น สัททนีติ ธาตุมาลา, ธาตุปฺปทีปิกา, และคัมภีร์ไวยากรณ์เช่น  กัจจายนะ, โมคคัลลานะ และ ปทรูปสิทธิ  เป็นต้น   อย่างไรก็ตาม เนื้อหาและมติส่วนใหญ่ยังคงถือเอาจากคัมภีรธาตวัตถสังคหะ และธาตวัตถสังคหปาฐนิสสัย  ซึ่งจัดพิมพ์โดยกองทุนนิธิศึกษาพุทธโฆส เป็นคัมภีร์เล่มใหญ่ หนาถึง 630 หน้า

คำชี้แจงการจัดทำพจนานุกรม

1.   พจนานุกรมฉบับนี้  ได้นำเอา ธาตุ, อรรถ, คำแปล, อุทาหรณ์ และปัจจัยประจำหมวดธาตุที่แสดงไว้โดยรวมกันจากคัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ และธาตวัตถสังคหปาฐนิสสัย  มาจัดลำดับ แจกแจงแสดงการวินิจฉัยคณะของธาตุและปัจจัยประจำหมวดธาตุทั้ง  8 คณะ  ตั้งแต่ ภูวาทิคณะ  เป็นต้นไป โดยแสดงตามลำดับอักษรตั้งแต่ธาตุที่เป็นสระล้วนไปตามลำดับ   ด้วยรูปแบบของตาราง ที่ทำให้ผู้ศึกษาใหม่สามารถมองเห็นอย่างเป็นสัดส่วนและสามารถทำความเข้าใจได้โดยง่าย  ประกอบด้วยอุทาหรณ์อันเกิดจากการทำตัวรูปสำเร็จด้วยปัจจัยในหมวดธาตุนั้นๆ  อย่างสมบูรณ์  และนอกจากนั้นแล้วยังได้คัดเอาเฉพาะธาตุที่เป็นอเนกคณิกธาตุ  ซึ่งเป็นธาตุจำพวกที่สามารถทำตัวรูปสำเร็จด้วยปัจจัยประจำหมวดธาตุได้มากตั้งแต่ 2 คณะขึ้นไป  ยากต่อการสังเกตและจดจำมารวมกันไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหากเป็นในบทที่ 9 และเพื่อความเข้าใจลำดับและโครงสร้างในเบื้องต้น  จึงควรทราบลำดับบทดังต่อไปนี้

บทที่ 1  ภูวาทิคณิกธาตุ มี เป็นวิกรณปัจจัย (วิกรณปัจจัย คือปัจจัยที่จำแนกธาตุทั้งหลายออกเป็นหมวดหมู่)
บทที่ 2  รุธาทิคณิกธาตุ มี เป็นวิกรณปัจจัย และลงนิคคหิตอาคมด้วย
บทที่ 3  ทิวาทิคณิกธาตุ  มี เป็นวิกรณปัจจัย
บทที่ 4  สวาทิคณิกธาตุ มี ณุ, ณา และ อุณา เป็นวิกรณปัจจัย
บทที่ 5  กิยาทิคณิกธาตุ  มี นา เป็นวิกรณปัจจัย
บทที่ 6  ตนาทิคณิกธาตุ มี โอ และ ยิร เป็นวิกรณปัจจัย
บทที่ 7  คหาทิคณิกธาตุ มี ปฺป และ ณฺหา เป็นวิกรณปัจจัย
บทที่ 8  จุราทิคณิกธาตุ มี เณ และ ณย เป็นวิกรณปัจจัย
บทที่ 9  อเนกคณิกธาตุ  เป็นกลุ่มธาตุที่ลงวิกรณปัจจัยได้หลายคณะ

2.   การแสดงธาตุ เช่น ปจ ธาตุ, คมุ ธาตุ  ตำราบาลีไวยากรณ์บางแห่งเขียนพินทุไว้ใต้พยัญชนะตัวสุดท้ายของธาตุเป็น ปจฺ คมฺ เพื่อไม่ให้ปรากฏสระซึ่งเป็นวิธีตามอย่างสันสกฤต  พึงทราบว่าคือธาตุเดียวกัน  และในการเขียนชื่อธาตุในหนังสือเล่มนี้ได้ใช้ตามแบบวิธีแรก  คือ ปจ ธาตุ  คมุ ธาตุ  ตามแบบบาลี  ซึ่งมีใช้ในคัมภีร์ธาตุต้นฉบับคือ  ธาตวัตถสังคหะ, กัจจายนะ, สัททนีติ ธาตุมาลา และ ปทมาลา เป็นต้น หรือแม้แต่  ธาตุปปทีปิกา  ก็ใช้เป็น ปจ และ คมุ เป็นต้นทั้งสิ้น และเพราะต้องเกี่ยวเนื่องกับหลักการทำตัวในไวยากรณ์  เวลาเรียกสูตรมากำกับเพื่อประกอบปัจจัยและวิภัตติ.

3.   การเรียงลำดับธาตุ  ใช้วิธีเรียงตามลำดับอักขระ  โดยถือธาตุที่ขึ้นต้นด้วยสระก่อน คือ สระ อ  อา  อิ  อี  อุ  อู  เอ  โอ  จากนั้นจะเป็นธาตุที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ก  ข  ค  ฆ  ง  ไปจนถึง  ห  [แต่การเรียงอัตโนมัติตามระบบฐานข้อมูลของคอมพิวเตอร์ จะเรียงตามลำดับพยัญชนะไทย คือ ก อยู่หน้า อ เสมอ. และถ้าใช้ encoding เป็น UTF-8 คู่กับ MySQL จะเรียง คำว่า เรือ หลังคำว่า กลอน เป็นต้น แต่เมื่อระบบค้นหาสามารถค้นหาตรงไปยังคำที่ต้องการได้เลย เรื่องลำดับอักษรที่ไม่เหมือนกันนี้จึงไม่เป็นปัญหาอะไร]

4.   ในแต่ละบท ตั้งแต่บทที่ 1 ถึงบทที่ 9 จะใช้วิธีการเรียงลำดับอักษรของธาตุในแต่ละบท  โดยจัดเรียงลำดับเฉพาะสมาชิกในแต่ละหมวดธาตุ   แยกออกจากกันอย่างอิสระ

5.  ธาตุทั้งหลายที่คัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ แสดงไว้ มีจำนวนรวมประมาณ 1,637  ธาตุที่คล้อยตามพระดำรัสของพระชินเจ้า และพึงทราบว่า ในภาษาบาลีซึ่งเป็นพุทธมตินั้น จะไม่มีธาตุที่ขึ้นต้นด้วย อักขระทั้ง 3 นี้คือ  ฒ, ณ และ  ฬ ปรากฏในอนุกรมธาตุเลย

6.   คัมภีร์ไวยากรณ์ทั้งหลายกล่าวลักษณะของธาตุในภาษาบาลี 3 ประเภท คือ

  • ปกติธาตุ คือ ธาตุที่มีอรรถตามปกติ  เช่น หู, ภู, ล, คมุ และ ปจ เป็นต้น
  • วิกติธาตุ  คือ ธาตุที่ปรุงแต่งให้มีอรรถพิเศษด้วยอำนาจปัจจัย เช่น ติติกฺข, พุภุกฺข เป็นต้น
  • นามธาตุ  คือ นามศัพท์ที่นำมาใช้ในฐานะเป็นธาตุ  เช่น ปุตฺติยติ, จิรายติ เป็นต้น สำหรับธาตุที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับนี้  เป็นปกติธาตุเท่านั้น

การใช้พจนานุกรม

โครงสร้างทั่วไปของพจนานุกรมฉบับนี้  ประกอบขึ้นด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญ  6  ส่วน โดยแบ่งแต่ละส่วนๆ  บรรจุลงในตาราง นับจากช่องซ้ายไปขวาเป็นช่องที่ 1-6 ตามลำดับ ดังนี้

1 2 3 4 5 6
ธาตุ   อรรถของธาตุ
(และคำแปล)
อุทาหรณ์/ตัวอย่าง หมวดธาตุ คาถาที่
ทิห   วุทฺธิตกฺกรเลปเน
เจริญ; ทำให้ขยายออก; ฉาบ, ทา
ทิหติ, เทหติ วฑฺฒติ เทหิยติ วา อุปจิยติ กมฺมกิเลเสหีติ เทโห กาย, อัตภาพ.
สนฺเทโห การเพิ่มความสงสัยให้แก่ตนเอง, กายของตน.
ภู (อ) 192
ฉฏฺฏ ฉฏฺฏ, ฉฑฺฑ ฉฏฺฏเน
การละ, ทิ้ง
สเจ โส ฉฏฺเฏติ, อิจฺเจตํ กุสลํ, โน เจ ฉฏฺเฏติ,
รูปิยฉฏฺฏโก สมฺมนิตพฺโพ ปุปฺผฉฏฺฏโก.
ฉฑฺเฑติ.
ฉฑฺฑนโก,
ฉฑฺฑิโต ผู้ทิ้ง, ผู้ขนย้าย.
จุร (เณ ณย) 127

ช่องที่ 1 อนุกรมธาตุ (ลำดับธาตุ) ในคัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ ซึ่งประกอบด้วยคาถาล้วนๆ จัดเรียงตามลำดับอักษร  โดยนับเอาสระขึ้นต้น และจัดแยกตามหมวดธาตุ ตั้งแต่หมวด ภู ธาตุ  โดยเฉพาะเป็นต้นไป ดังเช่น คาถาที่นำมาแสดงในอุทาหรณ์นี้เป็นลำดับธาตุในคาถาที่ 192  ซึ่งมีข้อความว่า

ทิโส  ภู เปกฺขณหึสา-    อปฺปีติทานโพธเน,
จุ  ตุ อุจฺจารเณ  ทิโห    วุทฺธิตกฺกรเลปเน.

ช่องที่ 2 ธาตุคู่กัน/ธาตุชุดเดียวกัน หมายถึง ธาตุที่มาคู่กัน (2 ศัพท์บ้าง 3 ศัพท์บ้าง) เป็นเหมือนธาตุเดียวกัน แต่รูปต่างกันเพียงเล็กน้อย จึงได้แยกแสดงออกเป็นคนละแถว/เรคคอร์ด เพื่อสะดวกในการค้นหาในเว็บนี้ และแสดงธาตุที่คู่กันไว้ในช่องนี้เพื่อการอ้างอิง

ช่องที่ 3 อรรถของธาตุ และคำแปล  ในภาษาบาลี  และคำแปลอรรถของธาตุเพื่อให้นักศึกษาใหม่สามารถเข้าใจได้ง่าย  มีเครื่องหมายอัฒภาค (;) คั่นแต่ละอรรถของธาตุ  และสำหรับอรรถของธาตุบางอรรถที่สามารถแปลเป็นไทยได้มากกว่า 1 คำแปล  จะใช้เครื่องหมายจุลภาค (,) คั่นระหว่างคำแปลเหล่านั้น เช่น ทิห ธาตุ  มีอรรถว่า วุทฺธิตกฺกรเลปเน แปลว่า เจริญ;  ทำให้ขยายออก; ฉาบ, ทา.   คำว่า วุทฺธิ  มีคำแปลอรรถคือ เจริญ  คำว่า ตกฺกร (=วุทฺธิกร)  คำแปลอรรถคือ  ทำให้ขยายออก.  ส่วนคำว่า เลปน คำแปลอรรถคือ ฉาบ หรือ ทา เป็นต้น

ช่องที่ 4 อุทาหรณ์ของธาตุ  โดยทั่วไปศัพท์แรกจะแสดงรูปสำเร็จของกิริยาอาขยาตที่ประกอบด้วย ติ วิภัตติก่อน และตามด้วย นามกิตก์ หรือ กิริยากิตก์บ้างตามสมควร  และบางแห่งยังได้แสดงอรรถของธาตุด้วยรูปวิเคราะห์ เช่น ทิหติ, เทหติ หรือ เทหิยติ เป็นอุทาหรณ์ที่แสดงรูปสำเร็จของกิริยาอาขยาต วฑฺฒติ และอุปจิยติ กมฺมกิเลเสหิ เป็นศัพท์ที่แสดงอรรถหรือคำแปลของธาตุ.  ส่วน เทโห และ สนฺเทโห  เป็นรูปสำเร็จของ นามกิตก์ เป็นต้น

ช่องที่ 5 หมวดของธาตุ และวิกรณปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยประจำหมวดธาตุไว้ในวงเล็บ  เพื่อความสะดวกแก่นักศึกษาในการกำหนดลักษณะของรูปสำเร็จ  ในช่องอุทาหรณ์ซึ่งประกอบขึ้นจากธาตุและปัจจัยประจำหมวดธาตุนั้นๆ  ได้โดยง่าย

ช่องที่ 6 เลขลำดับคาถา ในคัมภีร์ธาตวัตถสังคหะ  สำหรับผู้ที่ประสงค์จะย้อนกลับไปดูหลักฐานในคัมภีร์ต้นฉบับ ก็จะสามารถกระทำได้โดยง่าย  และยังใช้เทียบเคียงลำดับธาตุกันเองระหว่างธาตุในแต่ละหมวด  ซึ่งในแต่ละคาถา  จะมีธาตุประมาณ 3-4 ธาตุกระจายอยู่ตามหมวดต่างๆ  ทั้ง 8 หมวด เมื่อนับจำนวนคาถาเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหาแล้วมีทั้งหมด  433 คาถา.

 

ข้อควรสังเกตเพิ่มเติม

1.   สำหรับ อิการันตธาตุ คือ ธาตุที่ลงท้ายด้วยสระ  อิ เฉพาะที่เป็นลงปัจจัยในหมวด  ภู หรือ หมวด จุร  ธาตุเป็นต้น  มีกฎเกณฑ์ที่ทราบโดยทั่วไปว่า รูปสำเร็จจะต้องลงนิคคหิตอาคมที่ต้นธาตุอย่างแน่นอน  โดยมีกฎว่า อิการนฺตมฺหิ ธาตุสฺมึ  นิจฺจํ  นิคฺคหิตาคโม  ตัวอย่างเช่น

อกิ  ธาตุ  มีรูปสำเร็จคือ   องฺกติ, องฺเกติ, องฺกยติ
กปิ ธาตุ   มีรูปสำเร็จคือ   กมฺปติ, กมฺเปติ, กมฺปยติ
ขชิ ธาตุ   มีรูปสำเร็จคือ   ขญฺชติ, ขญฺเชติ, ขญฺชยติ

พึงทราบว่ากฎเกณฑ์นี้สำหรับเฉพาะธาตุในหมวด ภูวาทิ และหมวด จุราทิ ธาตุเท่านั้น ถ้าเป็นธาตุในหมวดอื่น  เช่น ฉิทิ ธาตุลง ย ปัจจัย  ในหมวด ทิวุ ธาตุไม่ต้องลงนิคคหิตอาคมตามกฎเกณฑ์นี้.

2.   ใน ธาตวัตถสังคหะ  คาถาที่ 19  กล่าวไว้ว่า

เย  คตฺยตฺถา เต พุทฺยตฺถา  ปวตฺติปาปุณตฺถกา.
ธาตุเหล่าใดที่เป็นไปในอรรถว่า ไป, ถึง, บรรลุ  เช่น อช, อต, อิ, คมุ, ยา ธาตุ  เป็นต้น  พึงทราบว่า ธาตุเหล่านั้นยังสามารถแปลว่า “รู้, เป็นไป, และ  ถึง”  ได้ด้วย.

3.   การเข้าใจในอรรถของธาตุนั้นๆ อย่างชัดเจน ย่อมจะมีประโยชน์อย่างมากในการที่จะเข้าใจซาบซึ้งในพระบาลี  เพราะว่าเมื่อพระอรรถกถาจารย์ หรือพระฎีกาจารย์  จะกล่าวอธิบายเนื้อความในพระบาลี  ก็จะอธิบายหรือกล่าวพรรณนาอรรถของธาตุเป็นส่วนใหญ่  ส่วนที่เป็นการพรรณนาแบบอธิบายล้วนๆ  โดยเว้นจากอรรถของธาตุนั้นมีเป็นส่วนน้อย  เช่น

อณ ธาตุ  ลงปัจจัย ได้ 2 หมวด คือ หมวด ภู ธาตุและหมวด ทิวุ ธาตุ,
ถ้าลง อ ปัจจัยหมวด ภู ธาตุ จะมีอรรถว่า ออกเสียง; ท่อง, สาธยาย   มีรูปสำเร็จ เป็น อณติ.   พระอรรถกถาจารย์จะขยายความอรรถของธาตุว่าเท่ากับ สชฺฌายติ (ย่อมสาธยาย)  และ
ถ้าลง  ย ปัจจัยหมวด ทิวุ ธาตุ จะมีอรรถว่า เป็นอยู่   มีรูปสำเร็จเป็น อณฺยติ หรือ อณยเต. 
พระอรรถกถาจารย์มักจะขยายความอรรถของธาตุว่าเท่ากับ  ชีวติ (ย่อมเป็นอยู่) ดังนี้เป็นต้น

ความเข้าใจอรรถของธาตุนั้นๆ มีความสำคัญมาก  ธาตุที่ปรากฏในพจนานุกรมนี้  มีเป็นจำนวนมากที่มีอรรถหรือคำแปลได้หลายคำแปลดังที่ได้แสดงไว้แล้ว  และธาตุจำนวนมากสามารถประกอบกับปัจจัยประจำหมวดธาตุได้หลายคณะ   จึงมีรูปสำเร็จมากมายตามจำนวนหมวดธาตุและปัจจัยประจำหมวดธาตุนั้นๆ สมดังที่พระโบราณจารย์กล่าวไว้ว่า  อเนกตฺถา หิ ธาตโว แปลว่า ธาตุทั้งหลายมีอรรถเป็นอเนก  ฉะนั้น เราพึงพยายามศึกษาอรรถของธาตุต่อไป

ที่มา: พจนานุกรมธาตุ ภาษาบาลี, 2541. พระมหาปราโมทย์ ปโมทิโต วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ราชบุรี.

ความคิดเห็น

Restricted HTML

  • Allowed HTML tags: <a href hreflang> <em> <strong> <cite> <blockquote cite> <code> <ul type> <ol start type> <li> <dl> <dt> <dd> <h2 id> <h3 id> <h4 id> <h5 id> <h6 id>
  • Lines and paragraphs break automatically.
  • Web page addresses and email addresses turn into links automatically.