ประโยชน์ของภาษาบาลีและสันสกฤต ที่มีต่อภาษาไทย

บาลีและสันสกฤต เป็นภาษาในตระกูลเดียวกันคือตระกูลอินโด-ยุโรป (Indo-European) ภาษาในกลุ่มนี้ เป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย หมายความว่าคำทุกคำ (ยกเว้นจำพวกอัพยยศัพท์) ไม่ว่าจะเป็นคำนามหรือคำกริยา ล้วนแล้วแต่มีรากศัพท์ หรือผ่านการประกอบรูปศัพท์ทั้งสิ้น ไม่ใช่จะสำเร็จเป็นคำเป็นศัพท์เลยทีเดียว และเมื่อจะนำไปใช้จะต้องมีการแจกรูปเสียก่อน เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ในประโยคเช่นเป็นประธาน เป็นกรรม เป็นต้น

ภาษาไทย แม้จะเป็นภาษาคนละตระกูลกับภาษาบาลีและสันสกฤต แต่ก็รับเอาคำบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยไม่น้อย อาจกล่าวได้ว่ามากกว่าภาษาอื่นๆ ที่นำมาใช้ในภาษาไทยในปัจจุบัน เช่น ภาษาอังกฤษ

แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยแล้ว ก็มีการเปลี่ยนรูป เปลี่ยนเสียง เปลี่ยนความหมาย ฯลฯ หรือที่เรียกว่าการกลายรูป กลายเสียง กลายความหมาย ฯลฯ นั่นเอง

ปัจจุบัน ภาษาบาลีและสันสกฤตมีอิทธิพลต่อภาษาไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาษาไทยรับเอาคำภาษาทั้งสองนี้มาใช้เป็นจำนวนมาก ดังกล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่าการจะศึกษาภาษาไทยให้ได้ดีนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาภาษาทั้งสองนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเข้าใจภาษาทั้งสองอย่างดี จนสิ้นข้อเคลือบแคลงสงสัย ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาภาษาไทยอย่างมากมายมหาศาล

ดังนั้น หากจะประมวลโดยสรุปถึงประโยชน์ของภาษาบาลีและสันสกฤตแล้ว อาจจะสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. ทำให้เข้าใจความหมายของคำต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

1.1 คำราชาศัพท์ ในภาษาไทยเรามีคำราชาศัพท์ที่เป็นคำบาลีและสันสกฤตจำนวนไม่น้อย  เช่น

พระเนตร หมายถึง ดวงตา (บาลี เนตฺต, สันสกฤต เนตฺร)
พระกรรณ หมายถึง หู (บาลี กณฺณ, สันสกฤต กรฺณ)
พระทนต์ หมายถึง ฟัน (บาลี ทนฺต, สันสกฤต ทนฺต)
พระบาท หมายถึง เท้า (บาลี ปาท, สันสกฤต ปาท)
พระพาหา หมายถึง แขน (บาลี พาหา, สันสกฤต พาหา)
พระเศียร หมายถึง หัว (บาลี สิร, สันสกฤต ศิรสฺ)

1.2 ชื่อจังหวัด อำเภอ ฯลฯ ในประเทศไทย เช่น

สุรินทร์ แปลว่า จอมผู้กล้า, จอมเทวดา แยกเป็น สุร (กล้า, เทวดา) + อินทร (จอม, ผู้เป็นใหญ่) แต่คำว่า สุรินทร์ นี้ บางคนแปลว่า จอมสุรา โดยแยกเป็น สุรา (สุรา, เหล้า) + อินทร์ (จอม, ผู้เป็นใหญ่) นัยหลังนี้แปลไม่เหมาะและทำให้ภาพพจน์ของจังหวัดสุรินทร์เสียไป
อุบลราชธานี แปลว่า เมืองดอกบัวหลวง แยกเป็น อุบล (ดอกบัว) + ราช (พระราชา, หลวง) + ธานี (เมือง)
บุรีรัมย์ แปลว่า เมืองที่น่ายินดี แยกเป็น บุรี (เมือง) + รัมย์ (น่ายินดี, อันเขาพึงยินดี)
ปทุมธานี แปลว่า เมืองแห่งดอกบัว แยกเป็น ปทุม (ดอกบัว) + ธานี (เมือง)
สมุทรปราการ แปลว่า กำแพงแห่งทะเล แยกเป็น สมุทร (ทะเล) + ปราการ (กำแพง)
สุราษฎร์ธานี แปลว่า เมืองคนดี แยกเป็น สุ (ดี) + ราษฎร์ (ราษฎร, แคว้น) + ธานี (เมือง)
ชัยนาท แปลว่า เสียงบรรลือแห่งความชนะ แยกเป็น ชัย (ความชนะ) + นาท (เสียงบรรลือ)
วานรนิวาส แปลว่า ที่อยู่ของลิง แยกเป็น วานร (ลิง) + นิวาส (ที่อยู่)
เศลภูมิ แปลว่า แผ่นดินที่มีภูเขา แยกเป็น เศล (ภูเขา) + ภูมิ (แผ่นดิน)

1.3 ชื่อ - นามสกุลของคน  เช่น

ทักษิณ แปลว่า ทิศใต้, ด้านขวา (บาลี ทกฺขิณ , สันสกฤต ทกฺษิณ)
กุลสตรี แปลว่า สตรีของตระกูล แยกเป็น กุล (ตระกูล, สกุล) + สตรี (สตรี, ผู้หญิง)
กัญญารัตน์ แปลว่า นางแก้ว, แก้วคือหญิงสาว แยกเป็น กัญญา (หญิงสาว) + รัตน์ (แก้ว, รัตนะ)
ตุงคมณี แปลว่า มณีชั้นสูง แยกเป็น ตุงค (สูง, สูงส่ง) + มณี (มณี)
เศวตศิลา แปลว่า หินสีขาว แยกเป็น เศวต (ขาว) + ศิลา (หิน)

1.4 ชื่อมหาวิทยาลัย สถานที่ วัด  เช่น

ศิลปากร แปลว่า บ่อเกิดแห่งศิลปะ แยกเป็น ศิลป (ศิลปะ) + อากร
เกษตรศาสตร์ แปลว่า ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเกษตร แยกเป็น เกษตร (เกษตร, ที่นา) + ศาสตร์ (ศาสตร์, ความรู้)
เทพหัสดิน แปลว่า ช้างของเทพ (หรือ เทพแห่งช้าง) แยกเป็น เทพ (เทพ) + หัสดิน (ช้าง)
ราช มังคลากีฬาสถาน แปลว่า ที่สำหรับเล่นอันเป็นมงคลของพระราชา แยกเป็น ราช (พระราชา) + มังคลา (เป็นมงคล) + กีฬา (กีฬา, การเล่น) + สถาน (สถาน, ที่)
เศวตฉัตร (ชื่อวัด) แปลว่า ฉัตรสีขาว แยกเป็น เศวต (ขาว) + ฉัตร (ฉัตร, ร่ม)

1.5 ชื่อเดือนทั้ง 12  เช่น

มกราคม แปลว่า (เดือน) เป็นที่มาของกลุ่มดาวที่มีรูปร่างคล้ายมังกร แยกเป็น มกร (มังกร) + อาคม (เป็นที่มา)
กุมภาพันธ์ แปลว่า (เดือน) ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดาวที่มีรูปร่างคล้ายหม้อ แยกเป็น กุมภ (หม้อ) + อาพันธ์ (เกี่ยวข้อง)
มีนาคม แปลว่า (เดือน) เป็นที่มาของกลุ่มดาวที่มีรูปร่างคล้ายปลา แยกเป็น มีน (ปลา) + อาคม (เป็นที่มา)
กรกฎาคม แปลว่า (เดือน) เป็นที่มาของกลุ่มดาวที่มีรูปร่างคล้ายปู แยกเป็น กรกฎ (ปู) + อาคม (เป็นที่มา)
พฤศจิกายน แปลว่า (เดือน) เป็นที่มาของกลุ่มดาวที่มีรูปร่างคล้ายแมงป่อง แยกเป็น พฤศจิก (แมงป่อง) + อยน (เป็นที่มา)

1.6 คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง (โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน)  เช่น

พฤษภกาสร   อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง  สำคัญหมายในกายมี
นรชาติที่วางวาย  มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี   ประดับไว้ในโลกา ฯ
(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส : กฤษณาสอนน้องคำฉันท์)

1.7 คำทั่วไป  เช่น

บรรพต แปลว่า ภูเขา (บาลี ปพฺพต, สันสกฤต ปรฺวต)
ราตรี แปลว่า กลางคืน (บาลี รตฺติ, สันสกฤต ราตฺริ,ราตฺรี)
ไปรณีษย์ แปลว่า ของที่ควรส่งไป (บาลี เปสนีย, สันสกฤต ไปฺรษณีย)
เกษียร แปลว่า น้ำนม (บาลี ขีร, สันสกฤต กฺษีร)
เกษียณ แปลว่า สิ้นไป (บาลี ขีณ, สันสกฤต กฺษีณ)

2. ใช้หรือประกอบคำภาษาบาลีและสันสกฤตได้ถูกต้อง  เช่น

โกวิท แปลว่า ผู้รู้, ผู้ฉลาด (บาลี โกวิท, สันสกฤต โกวิท) ผู้ที่ไม่รู้อาจใช้ผิดเป็น โกวิทย์ เพราะไปเทียบผิดกับคำว่า วิทย์, วิทยา ซึ่งในภาษาบาลีและสันสกฤตไม่มีคำว่า โกวิชฺช หรือ โกวิทฺย)
ญาติ แปลว่า คนที่รู้จักกัน, ญาติพี่น้อง (บาลี ญาติ, สันสกฤต ชฺญาติ)
อนุญาต แปลว่า ยินยอม, รู้ตามแล้ว (บาลี อนุญฺญาต, สันสกฤต อนุชฺญาต) ผู้ที่ไม่รู้อาจใช้ผิดเป็น อนุญาติ เพราะไปเทียบผิดกับคำว่า ญาติ (ญาติพี่น้อง) ซึ่งคำทั้งสองนี้ลงปัจจัยต่างกัน (คือ ติ กับ ต ปัจจัย)
อานิสงส์ แปลว่า ผลหรือประโยชน์ที่ได้ (บาลี อานิสํส, (สันสกฤต อาจประกอบเป็น อานิศํส)) ผู้ที่ไม่รู้อาจใช้ผิดเป็น อานิสงฆ์ เพราะไปเทียบผิดกับคำว่า สงฆ์ (พระสงฆ์)
เกษียรสมุทร แปลว่า ทะเลน้ำนม แยกเป็น เกษียร (น้ำนม) + สมุทร (ทะเล) (ดูข้อ 1.7)
เกษียณอายุ แปลว่า สิ้นหรือหมดอายุ (ราชการ) แยกเป็น เกษียณ (สิ้นไป) + อายุ (ดูข้อ 1.7)
เกษียนหนังสือ แปลว่า เขียนหนังสือ แยกเป็น เกษียน (เขียน) + หนังสือ (คำแผลงในภาษาไทย)

3. ช่วยให้เรียนภาษาไทยหรือไวยากรณ์ไทยได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่เรียนภาษาบาลี (และสันสกฤต) มาก่อนนั้น เมื่อไปศึกษาภาษาไทย จะช่วยให้เรียนรู้ได้ง่าย เช่น เมื่อไปพบคำศัพท์และลักษณะไวยากรณ์ต่างๆ เช่น นาม คุณศัพท์ สรรพนาม บุรุษสรรพนาม วิเศษณสรรพนาม อุปสรรค นิบาต ปัจจัย สมาส ตัทธิต สนธิ ประธาน กริยา เป็นต้น เหล่านี้ก็คือ นาม (นามนาม) คุณนาม สัพพนาม ปุริสสัพพนาม วิเสสนสัพพนาม อุปสัค ฯลฯ ในภาษาบาลีนั่นเอง ซึ่งมีความหมายและลักษณะทางไวยากรณ์เป็นอย่างไรนั้น นับว่าไม่ต้องพูดถึงเลยทีเดียวเพราะเข้าใจดีอยู่แล้วนั่นเอง

4. ช่วยให้สามารถใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตได้อย่างไพเราะสละสลวย ทั้งในบทร้อย กรองและร้อยแก้ว ข้อนี้เราสังเกตเห็นว่าในการแต่งร้อยกรองและเขียนร้อยแก้วก็ตาม ถ้าเราใช้คำภาษาบาลีและสันกฤตแล้ว จะมีความไพเราะสละสลวยมากกว่าที่จะใช้คำในภาษาไทย เช่น
บทร้อยกรองข้าง ต้น (1.6) ถ้าเราแต่งว่า อันวัวควายตายไป เหลือเขาหนัง ช้างตายยัง เหลืองาเป็นศักดิ์ศรี อย่างนี้ก็ได้ แต่ดูเหมือนไม่ค่อยไพเราะสละสลวยในด้านคำศัพท์ (ขาดศัพทาลังการ) แม้ในบทร้อยแก้วทั่วๆไปก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากขาดคำภาษาบาลีและสันสกฤตแล้ว ก็ดูเหมือนว่าจะทำให้ภาษาไทยขาดรสชาติ ขาดความหนักแน่น ไม่สละสลวย และไม่กระชับรัดกุม

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น1

Restricted HTML

  • Allowed HTML tags: <a href hreflang> <em> <strong> <cite> <blockquote cite> <code> <ul type> <ol start type> <li> <dl> <dt> <dd> <h2 id> <h3 id> <h4 id> <h5 id> <h6 id>
  • Lines and paragraphs break automatically.
  • Web page addresses and email addresses turn into links automatically.

พนมศักดิ์ ณ หนองคาย (not verified)

2 months ago

นำไปใช้ประโยชน์ได้มากในการอธิบายความหมายของคำในภาษาไทย