ประวัติภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต
ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต จัดอยู่ภาษาอินเดีย-ยุโรป ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย พวกอารยันได้เข้ามาในอินเดีย เมื่อประมาณ 1,500 ปี ก่อนคริสตศักราช (ปรีชา ทิชินพงศ์, 2534 : 1) นักปราชญ์ทางภาษาได้แบ่งภาษาตระกูลอารยันในอินเดียออกเป็น 3 สมัย ดังนี้
- ภาษาสมัยเก่า หมายถึงภาษาที่ใช้ในคัมภีร์พระเวท ได้แก่ คัมภีร์ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท รวมตลอดทั้งคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของคัมภีร์พระเวท (เวทานต์) ภาษาที่ใช้ในคัมภีร์ต่างๆ เหล่านี้จะมีความเก่าแก่ลดหลั่นกันมาตามลำดับ ภาษาสันสกฤตก็จัดอยู่ในสมัยนี้ด้วย
- ภาษาสมัยกลาง ได้แก่ ภาษาปรากฤตซึ่งเป็นภาษาถิ่นของชาวอารยันที่ใช้กันท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศอินเดีย เช่นภาษามาคธี มหาราษฏรี เศารเสนี เป็นต้น ภาษาในสมัยนี้มีลักษณะโครงสร้างทางเสียง และนอกจากจะเรียกว่าภาษาปรากฤตแล้วยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภาษาการละคร” เพราะเหตุที่นำไปใช้เป็นภาษาพูดของตัวละครบางตัวในบทละครสันสกฤตด้วย
- ภาษาสมัยใหม่ ได้แก่ ภาษาต่างๆในปัจจุบัน เช่น ภาษาฮินดี เบงกาลี ปัญจาบี มราฐี เนปาลี เป็นต้น ภาษาเหล่านี้แม้จะเข้าใจกันว่าสืบมาจากภาษาปรากฤต แต่มีลักษณะของภาษาผิดกันมาก เพราะมีภาษาตระกูลอื่นที่ไม่ได้สืบมาจากภาษาของชาวอารยันเข้าไปปะปนกันมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
ภาษาสันสกฤต
ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาในคัมภีร์พระเวทของชาวอารยัน ถือเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนชั้นสูง แต่เดิมนั้นไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์เคร่งครัดนัก ต่อมาเมื่อระยะเวลาล่วงไปนานๆ ประกอบกับภาษาในคัมภีร์พระเวทนี้มีภาษาพื้นเมืองปะปนอยู่มาก เป็นเหตุให้หลักเกณฑ์ต่างๆ ของภาษานี้คลาดเคลื่อนไปมาก จนกระทั่งได้มีนักปราชญ์ของอินเดียคนหนึ่งชื่อ “ปาณินิ” ได้ศึกษาคัมภีร์พระเวททั้งหลาย แล้วนำมาแจกแจงวางหลักเกณฑ์ให้เป็นระเบียบและรัดกุม แต่งเป็นตำราไวยากรณ์ขึ้นเรียกชื่อว่า “อัษฎาธยายี” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตำราไวยากรณ์เล่มแรกที่แต่งได้ดีที่สุดและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และต่อมาได้มีผู้เรียกภาษาที่ปาณินิได้จัดระเบียบของภาษาไว้เป็นอย่างดีและสมบูรณ์ที่สุดนี้ว่า “สันสกฤต” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ได้จัดระเบียบและขัดเกลาเรียบร้อยดีแล้ว” แต่กฎเกณฑ์ที่ปาณินิได้วางไว้นี้กลับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาสันสกฤตไม่มีวิวัฒนาการเหมือนภาษาอื่นๆ เพราะนอกจากภาษาสันสกฤตจะถือว่าเป็นภาษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในหมู่ของนักปราชญ์ โดยเฉพาะกษัตริย์และพราหมณ์ที่เป็นบุรุษเพศ กฎเกณฑ์และรายละเอียดปลีกย่อยยังทำให้ไม่เอื้อต่อการใช้ จึงทำให้ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาตายในที่สุด
ภาษาบาลี
ภาษาบาลี เป็นภาษาปรากฤตภาษาหนึ่งที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาพระเวท ภาษาบาลี คือ ภาษาที่ชาวมคธใช้พูดกันในแคว้นมคธ เรียกว่า “ภาษามาคธี” พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษานี้ประกาศพระศาสนาของพระองค์ ภาษามาคธีนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ (เจิม ชุมเกตุ, 2525:3)
- สุทธมาคธี เป็นภาษาของชนชั้นสูง คือภาษาของกษัตริย์หรือภาษาทางราชการ
- เทสิยา หรือ ปรากฤต ได้แก่ ภาษาประจำถิ่น
พระพุทธเจ้าทรงใช้สุทธมาคธีเป็นหลักในการประกาศคำสั่งสอนของพระองค์ และในสมัยนั้นทรงเผยแผ่พระธรรมด้วยวิธีมุขปาฐะ โดยมิได้มีบันทึกหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ภาษาบาลีนี้นำมาใช้บันทึกพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 ปรากฏเป็นหลักฐานครั้งแรกในจารึกพระเจ้าอโศกมหาราช ถือเป็นภาษาประจำพุทธศาสนานิกายหินยาน [เถรวาท] ส่วนศาสนานิกายมหายานใช้ภาษาสันสกฤตบันทึกพุทธวจนะ (สุภาพร มากแจ้ง, 2535 : 4) และต่อก็ใช้ภาษาบาลีจารึกพระธรรมลงในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นตำราหลักทางพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ภาษาบาลีก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับภาษาสันสกฤต คือใช้เป็นภาษาเขียนในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ได้ใช้พูดหรือใช้เขียนในชีวิตประจำวัน จึงไม่มีการเจริญเติบโต ไม่มีวิวัฒนาการเหมือนกับภาษาอื่นๆ และกลายเป็นภาษาตายในที่สุด
เหตุที่คำภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาปะปนในภาษาไทย
เมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่เข้ามาในสู่ประเทศไทย และคนไทยได้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยจึงจำเป็นต้องเรียนภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะคำสอนทางศาสนาเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต (สันสกฤต : มหายาน) ดังนั้นจึงได้เกิดคำภาษาบาลีและสันสกฤตใช้ในภาษาไทยมากขึ้น (วิสันติ์ กฎแก้ว, 2529 : 1) นอกจากการรับนับถือศาสนาพุทธแล้ว ไทยยังได้รับเอาความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งวรรณคดีบาลีและสันสกฤตเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นส่วนทำให้เรารับคำภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งเป็นคำที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เข้ามาใช้ในภาษาไทย
สุธิวงศ์ พงษ์บูลย์ (2523 : 5) ได้กล่าวถึงเหตุที่คำภาษาบาลีและสันสกฤตเข้ามาปนอยู่ในภาษาไทยว่า เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ สรุปได้ดังนี้
- ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา เมื่อศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต และศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ในการเผยแผ่ศาสนา ไทยได้รับศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และรับคติของศาสนาพราหมณ์มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในลัทธิธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เราจึงรับคำในลัทธิทั้งสองเข้ามาใช้ในลักษณะของศัพท์ทางศาสนา และใช้เป็นศัพท์สามัญทั่วไปในชีวิตประจำวัน
- ความสัมพันธ์ทางด้านประเพณี เมื่อชนชาติอินเดียได้เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ก็นำเอาประเพณีของตนเข้ามาปฏิบัติ ทำให้มีคำที่เนื่องด้วยประเพณีเข้ามาปะปนในภาษาไทย และนานเข้าก็ได้กลายเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย เช่น ตรียัมปวาย มาฆบูชา ตักบาตรเทโว ดิถี กระยาสารท เทศน์มหาชาติ กฐิน จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ฉัตรมงคล พืชมงคล เป็นต้น
- ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรม อินเดียเป็นประเทศที่เจริญทางด้านวัฒนธรรมมานาน อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของอินเดียมีต่อนานาประเทศทางภาคพื้นตะวันออกก่อนที่วัฒนธรรมตะวันตกจะเข้ามา ไทยได้รับอิทธิพลของอินเดียทุกสาขา เช่น
- ศิลปะ ศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เช่น ทางดนตรีและนาฏศิลป์ ภาษาที่ใช้เนื่องด้วยเป็นศิลปะจึงเข้ามาปะปนในภาษาไทย เช่น มโหรี ดนตรี ปี่พาทย์
- ดาราศาสตร์ อินเดียมีความเจริญทางด้านดาราศาสตร์มาช้านานจนมีตำราเรียนกัน เมื่อวิชานี้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย ทำให้คำต่างๆที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น สุริยคติ จันทรคติ จันทรคราส
- การแต่งกาย ศัพท์ทางด้านวัฒนธรรมการแต่งกายที่ได้รับมาส่วนใหญ่เป็นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เช่น มงกุฎ ชฎา สังวาล
- สิ่งก่อสร้าง คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นศัพท์ที่เรียกชื่อสิ่งก่อสร้างทางศาสนาและราชวัง เช่น นภศูล ปราสาท เจดีย์
- เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ชาวอินเดียนำเข้ามาในประเทศไทย ทำให้เราได้รับคำที่เรียกเครื่องมือเครื่องใช้นั้นๆเข้ามาใช้ด้วย เช่น อาวุธ ทัพพี คนโท
- การใช้ราชาศัพท์ การใช้ราชาศัพท์เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของไทย ที่ต้องการแยกศัพท์ของคนสามัญชนออกจากศัพท์ที่ใช้กับพระราชาและเชื้อพระวงศ์ เป็นเหตุให้เรารับคำบาลีและสันสกฤต ซึ่งถือว่าเป็นภาษาที่สูงเข้ามาใช้ เช่น พระเนตร พระบาท พระกรรณ บางคำก็รับเข้ามาเป็นคำสุภาพ เช่น บิดา มารดา ฯลฯ
- ความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการ เนื่องจากวิทยาศาสตร์และวิทยาการเจริญกว้างขวางขึ้น ทำให้คำที่เราใช้อยู่เดิมแคบเข้า จึงจำเป็นต้องรับคำบาลี สันสกฤต เข้ามาใช้ เพื่อความเจริญและความสะดวก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ แพทย์ เภสัช ฯลฯ
- ความสัมพันธ์ทางด้านวรรณคดี วรรณคดีอินเดียมีอิทธิพลต่อวรรณคดีไทยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งวรรณคดีสันสกฤต และวรรณคดีที่เนื่องมาจากชาดกในพระพุทธศาสนา เมื่อเรารับเอาวรรณคดีเหล่านี้เข้ามา จึงมีศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวกับวรรณคดีเหล่านี้เข้ามามากมาย เช่น ครุฑ สุเมรู หิมพานต์ ฯลฯ
ลักษณะของภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่ในตระกูลภาษาที่มีวิภัตปัจจัย คือเป็นภาษาที่ที่มีคำเดิมเป็นคำธาตุ เมื่อจะใช้คำใดจะต้องนำธาตุไปประกอบกับปัจจัยและวิภัตติ เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกพจน์ ลิงค์ บุรุษ กาล มาลา วาจก โครงสร้างของภาษาประกอบด้วย ระบบเสียง หน่วยคำ และระบบโครงสร้างของประโยค ภาษาบาลีและสันสกฤตมีหน่วยเสียง 2 ประเภท คือ หน่วยเสียงสระและหน่วยเสียงพยัญชนะ ดังนี้
- หน่วยเสียงสระ
หน่วยเสียงสระภาษาบาลีมี 8 หน่วยเสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
หน่วยเสียงภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลี 8 หน่วยเสียง และต่างจากภาษาบาลีอีก 6 หน่วยเสียง เป็น 14 หน่วยเสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ไอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦๅ
- หน่วยเสียงพยัญชนะ
หน่วยเสียงพยัญชนะภาษาบาลีมี 33 หน่วยเสียง ภาษาสันสกฤตมี 35 หน่วยเสียง เพิ่มหน่วยเสียง ศ ษ
ซึ่งหน่วยเสียงพยัญชนะทั้งสองภาษานี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ พยัญชนะวรรค และพยัญชนะเศษวรรค
วิธีสังเกตคำบาลี
- สังเกตจากพยัญชนะตัวสะกดและตัวตาม
ตัวสะกด คือ พยัญชนะที่ประกอบอยู่ข้างท้ายสระ ประสมกับสระและพยัญชนะต้น เช่น ทุกข์ (ก = ตัวสะกด)
ตัวตาม คือ ตัวที่ตามหลังตัวสะกด เช่น สัตย สัจจ ทุกข เป็นต้น คำในภาษาบาลี จะต้องมีสะกดและตัวตามเสมอ โดยดูจากพยัญชนะบาลี มี 33 ตัว แบ่งออกเป็นวรรคดังนี้
แถวที่ | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
วรรค กะ | ก | ข | ค | ฆ | ง |
วรรค จะ | จ | ฉ | ช | ฌ | ญ |
วรรค ฏะ | ฏ | ฐ | ฑ | ฒ | ณ |
วรรค ตะ | ต | ถ | ท | ธ | น |
วรรค ปะ | ป | ผ | พ | ภ | ม |
เศษวรรค | ย ร ล ว ส ห ฬ อํ |
มีหลักสังเกตตัวสะกดดังนี้
- พยัญชนะตัวที่ 1 , 3 , 5 เป็นตัวสะกดได้เท่านั้น (ต้องอยู่ในวรรคเดียวกัน)
- ถ้าพยัญชนะตัวที่ 1 สะกด ตัวที่ 1 หรือตัวที่ 2 เป็นตัวตามได้ เช่น สักกะ ทุกข สัจจ ปัจฉิม สัตต หัตถ บุปผา เป็นต้น
- ถ้าพยัญชนะตัวที่ 3 สะกด ตัวที่ 3 หรือ 4 เป็นตัวตามได้ในวรรคเดียวกัน เช่น อัคคี พยัคฆ์ วิชชา อัชฌา พุทธ คัพภ (ครรภ์)
ง. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 5 สะกด ทุกตัวในวรรคเดียวกันตามได้ เช่น องค์ สังข์ องค์ สงฆ์ สัมปทาน สัมผัส สัมพันธ์ สมภาร เป็นต้น
จ. พยัญชนะบาลี ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ในวรรคเดียวกันเท่านั้นจะข้ามไปวรรคอื่นไม่ได้
2. สังเกตจากพยัญชนะ “ฬ” จะมีใช้ในภาษาบาลีในไทยเท่านั้น เช่น จุฬา ครุฬ อาสาฬห์ วิฬาร์ โอฬาร์ พาฬ เป็นต้น
3. สังเกตจากตัวตามในภาษาบาลี จะมาเป็นตัวสะกดในภาษาไทยโดยเฉพาะวรรค ฎ และวรรคอื่น ๆ บางตัว จะตัดตัวสะกดออกเหลือแต่ตัวตามเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เช่น
บาลี | ไทย | บาลี | ไทย | |
รัฎฐ | รัฐ | อัฎฐิ | อัฐิ | |
ทิฎฐิ | ทิฐิ | วัฑฒนะ | วัฒนะ | |
ปุญญ | บุญ | วิชชา | วิชา | |
สัตต | สัต | เวชช | เวช | |
กิจจ | กิจ | เขตต | เขต | |
นิสสิต | นิสิต | นิสสัย | นิสัย |
ยกเว้นคำโบราณที่นำมาใช้แล้วไม่ตัดรูปคำซ้ำออก เช่น ศัพท์ทางศาสนา ได้แก่ วิปัสสนา จิตตวิสุทธิ์ กิจจะลักษณะ เป็นต้น
วิธีสังเกตคำสันสกฤต มีดังนี้
- พยัญชนะสันกฤต มี 35 ตัว คือ พยัญชนะบาลี 33 ตัว + 2 ตัว คือ ศ, ษ
ฉะนั้นจึงสังเกตจากตัว ศ, ษ มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น กษัตริย์ ศึกษา เกษียร พฤกษ์ ศีรษะ เป็นต้น ยกเว้นคำไทยบางคำที่ใช้เขียนด้วยพยัญชนะทั้ง 2 ตัวนี้ เช่น ศอก ศึก ศอ เศร้า ศก ดาษ กระดาษ ฝรั่งเศส ฝีดาษ ฯลฯ - ไม่มีหลักการสะกดแน่นอน ภาษาสันสกฤต ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ข้ามวรรคกันได้ ไม่กำหนดตายตัว เช่น อัปสร เกษตร ปรัชญา อักษร เป็นต้น
- สังเกตจากสระ สระในภาษาบาลี มี 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
ส่วนสันสกฤต คือ สระภาษาบาลี 8 ตัว + เพิ่มอีก 6 ตัว คือ สระ ฤ ฤา ภ ภา ไอ เอา
ถ้ามีสระเหล่านี้อยู่และสะกดไม่ตรงตามมาตราจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น ตฤณมัย ไอศวรรย์ เสาร์ ไปรษณีย์ ฤาษี คฤหาสน์ เป็นต้น - สังเกตจากพยัญชนะควบกล้ำ ภาษาสันสกฤตมักจะมีคำควบกล้ำข้างท้าย เช่น จักร อัคร บุตร สตรี ศาสตร์ อาทิตย์ จันทร์ เป็นต้น
- สังเกตจากคำที่มีคำว่า “เคราะห์” มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น เคราะห์ พิเคราะห์ สังเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นต้น
- สังเกตจากคำที่มี “ฑ” อยู่ เช่น จุฑา กรีฑา ครุฑ มณเทียร จัณฑาล เป็นต้น
- สังเกตจากคำที่มี “รร” อยู่ เช่น สรรค์ ธรรม์ วรรณ บรรพต ภรรยา บรรณารักษ์ มรรยาท กรรม ทรรศนะ สรรพ เป็นต้น
ลักษณะการยืมคำภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน ลักษณะภาษาและโครงสร้างอย่างเดียวกัน ไทยเรารับภาษาทั้งสองมาใช้ พิจารณาได้ดังนี้
1. ถ้าคำภาษาบาลีและสันสกฤตรูปร่างต่างกัน เมื่อออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วได้เสียงเสียงตรงกัน เรามักเลือกใช้รูปคำสันสกฤต เพราะภาษาสันสกฤตเข้ามาสู่ภาษาไทยก่อนภาษาบาลี เราจึงคุ้นกว่า เช่น
บาลี | สันสกฤต | ไทย |
กมฺม | กรฺม | กรรม |
จกฺก | จกฺร | จักร |
2. ถ้าเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งสองภาษา มักเลือกใช้รูปภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี เพราะเราคุ้นกว่าและเสียงไพเราะกว่า เช่น
บาลี | สันสกฤต | ไทย |
ครุฬ | ครุฑ | ครุฑ |
โสตฺถิ | สฺวสฺติ | สวัสดี |
3. คำใดรูปสันสกฤตออกเสียงยาก ภาษาบาลีออกเสียงสะดวกกว่า จะเลือกใช้ภาษาบาลี เช่น
บาลี | สันสกฤต | ไทย |
ขนฺติ | กฺษานฺติ | ขันติ |
ปจฺจย | ปฺรตฺย | ปัจจัย |
4. รูปคำภาษาบาลีสันสกฤตออกเสียงต่างกันเล็กน้อย แต่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่ บางทีเรานำมาใช้ทั้งสองรูปในความหมายเดียวกัน เช่น
บาลี | สันสกฤต | ไทย |
กณฺหา | กฺฤษฺณา | กัณหา, กฤษณา |
ขตฺติย | กฺษตฺริย | ขัตติยะ, กษัตริย์ |
5. คำภาษาบาลีสันสกฤตที่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่ บางทีเรายืมมาใช้ทั้งสองรูป แต่นำมาใช้ในความหมายที่ต่างกัน เช่น
บาลี | สันสกฤต | ไทย | ความหมาย |
กิริยา | กฺริยา | กิริยา | อาการของคน |
กริยา | ชนิดของคำ | ||
โทส | เทฺวษ | โทสะ | ความโกรธ |
เทวษ | ความเศร้าโศก |
คำภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทย
คำภาษาบาลีและสันสกฤตปรากฏในวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งในสมัย ปัจจุบันทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง คือพบตั้งแต่ในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงแม้จะมีไม่มากนัก แต่ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นไทยได้นำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยของเราแล้ว และในสมัยต่อมาก็ปรากฏว่านิยมใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในการแต่งวรรณคดีมากขึ้น
วิสัณติ์ กฏแก้ว (2529 : 2) ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้คำบาลีและสันสกฤตเป็นที่นิยมชมชอบในการนำมาใช้ในทางวรรณคดี พอจะสรุปได้ดังนี้
- วรรณคดีไทยเป็นวรรณกรรมที่ถือเอาเสียงไพเราะเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีประเภทร้อยกรอง นอกจากจะถือเอาความไพเราะของเสียงเป็นสำคัญแล้ว ในการประพันธ์วรรณกรรมประเภทฉันท์ จะต้องถือคำ ครุ ลหุ เป็นสำคัญอีกด้วย คำที่เป็นเสียงลหุในภาษาไทยมีน้อยมาก จึงจำเป็นจะต้องใช้ศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะสามารถเลือกคำลหุ ครุ ได้มาก และสามารถดัดแปลงให้เข้ากับภาษาของเราได้ดี
ตัวอย่าง
ข้าขอเทิดทศนัขประณามคุณพระศรี สรรเพชญพระผู้มีพระภาค
อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฏกวากย์ ทรงคุณคะนึงมาก ประมาณ
(สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 – อิลราชคำฉันท์)
- คนไทยถือว่าคำบาลีและสันสกฤตเป็นคำสูง เพราะเป็นคำที่ใช้เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า และผู้ที่ใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตส่วนใหญ่อยู่ในฐานะควรแก่การเคารพบูชาทั่วไป เช่น พระสงฆ์ พราหมณ์ เป็นต้น ดังนั้นการแต่งฉันท์ที่ถือกันว่าเป็นของสูง จึงนิยมใช้คำบาลีและสันสกฤต
- วรรณคดีไทยโดยมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งจะต้องใช้คำราชาศัพท์ การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เป็นคำราชาศัพท์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่น พระเนตร พระพักตร์ พระกรรณ เป็นต้น
- การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตแต่งฉันท์ เป็นเครื่องแสดงภูมิรู้ของผู้แต่งว่ามีความรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นอย่างดี มีคนเคารพนับถือและยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์”
ที่มา: learners.in.th
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ความคิดเห็น