การศึกษาเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ซึ่งหากคนมีคุณภาพแล้วย่อมทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้า การจัดการศึกษาให้คนมีคุณภาพ สอดคล้องกับแผนพัฒนาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่ว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการสร้างให้เกิดความเจริญ ก้าวหน้า และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ให้คนมีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและสร้างความก้าวหน้า (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2539 : 56-57)
การศึกษาของไทยแต่เดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดกับวัง มีประเพณีการบวชเรียน และใช้วัดเป็นแหล่งการศึกษา จึงมีการจัดการศึกษาให้กับคณะสงฆ์ที่อยู่ในวัด สอนทั้งวิชาหนังสือ และวิชาพระธรรมวินัย (พระเทพเวที. 2531: 118) ซึ่งสอดคล้องกับ (สุมน อมรวิวัฒน์ และคณะ. 2535 :135) กล่าวว่า แต่เดิมมาสถานที่ซึ่งใช้เป็นแหล่งศึกษาเล่าเรียน คือ หอฉัน หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนใหญ่ คือเมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็เลี้ยงอาหารศิษย์ด้วย หลังจากนั้นจึงให้เป็นสถานที่เล่าเรียนต่อไป ส่วนหอสวดมนต์นั้น ส่วนใหญ่พระใช้สวดมนต์เวลาค่ำ เวลากลางวันจึงใช้เป็นสถานที่เล่าเรียน นอกจากนี้ตามกุฏิและห้องของพระสงฆ์ ยังใช้เป็นโรงเรียนขนาดย่อม สอนนักเรียนแห่งละ 2 ถึง 5 คน
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ที่มีผลต่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา เพราะว่า หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ พระพุทธพจน์นั้น คงอยู่ในรูปของภาษามคธหรือภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่พระพุทธองค์ใช้ประกาศพระศาสนา ดังนั้น บาลี จึงเป็นภาษาที่ทุกคนผู้มีพระศาสนาเป็นเรือนใจจำต้องสนใจ ทั้งนี้เพราะผู้รู้บาลีดี ย่อมสามารถที่จะใช้ความรู้นั้นเป็นกุญแจไขตู้คือพระไตรปิฎกได้ การที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้บาลีดีนั้น ในเบื้องต้นต้องมีความเข้าใจในหลักภาษาคือ ไวยาการณ์ของบาลีได้ชัดเจน แม่นยำ ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ เพราะภาษามคธ (บาลี) เป็นภาษาประเภททีมีวิภัตติปัจจัยกำกับ ซึ่งแตกต่างจากภาษาคำเรียง หลักไวยากรณ์จึงเป็นหลักพื้นฐานที่ผู้ศึกษาจำต้องใส่ใจ กำหนด จดจำให้ดี และเนื่องจากภาษามคธ (บาลี) เป็นภาษาต่างประเทศซึ่งมีวิธีการใช้ศัพท์แตกต่างจากภาษาไทย ดังนั้น การท่องจำกฎเกณฑ์ของภาษาจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ที่มีความแม่นยำในเรื่องกฎเกณฑ์ของภาษา และมีความเข้าใจในวิธีใช้ ย่อมจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้บาลีดี
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ยังนับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเป็นการศึกษาที่ทำให้พระภิกษุสามเณรจบการศึกษาของคณะสงฆ์ และมีคุณวุฒิทางพระพุทธศาสนาสูงสุด (กรมการศาสนา. 2541: 2) ประกอบกับการเรียนภาษาบาลีเกี่ยวเนื่องกับการแปลศัพท์ ตีความพระธรรมวินัยตามไวยากรณ์ เป็นการรักษาหลักการเดิมหรือความหมายของพระพุทธวจนะตามที่มีอยู่ในพระ ไตรปิฎก เป็นการป้องกันการปฏิรูปพระสัทธรรมได้ และการเรียนภาษาบาลีต้องใช้ความอุตสาหวิริยะและแรงจูงใจเป็นอย่างมาก และเป็นยังเป็นองค์ประกอบที่จะบ่งชี้ถึงความสำเร็จในการเรียนภาษาบาลีได้
ซึ่งแรงจูงใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง แรงจูงใจ คือพลังทางจิตซึ่งเป็นภาวะภายในที่กระตุ้น (Arouses) กำหนดทิศทาง (Directse) และคงสภาพ (Maintain) พฤติกรรม เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่วางไว้ ดังที่พระธรรมปิฎก(2544 : 80) กล่าวไว้ว่า เมื่อคนเราจะทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องมีแรงจูงใจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ถ้าแรงจูงใจผิดก็ทำให้เดินทางผิด ถ้าแรงจูงใจถูก ก็เดินหน้าไปในการพัฒนา แรงจูงใจนี้เป็นตัวแปรสำคัญของความสำเร็จ (อารี สัณหฉวี..2545: 85; อ้างอิงจาก Sternberg and Grigovenko.1993) แรงจูงใจคงเทียบได้กับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง คือ ฉันทะ ซึ่งเป็นหลักธรรมข้อแรกในอิทธิบาท 4 ซึ่งเป็นคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย ดังที่พระธรรมปิฎก (2546ข: 96-97) กล่าวว่า ผู้ที่มีแรงจูงใจประเภทฉันทะ จะมีความพอใจ ชอบใจ ไม่เบื่อหน่ายต่อความรู้ เป็นผู้ใคร่รู้ กระตือรือร้นอยากเรียนรู้ อยากได้ความรู้ ชอบค้นคว้าแสวงหาความรู้และความจริง มุ่งสู่สิ่งดีงาม อยากทำให้เกิดประโยชน์และเป็นผลดี คือ ใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเองเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่ สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม มาเป็นเวลา 6 ปี ได้สังเกต พบว่า นักเรียนที่เป็นพระภิกษุ สามเณร ไม่ค่อยเอาใจใส่ต่อการเรียน ไม่มีการเตรียมตัวก่อนมาเรียน เบื่อหน่ายการเรียน ไม่ชอบค้นคว้า ชอบหลับในชั้นเรียน ไม่กระตือรือร้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมาสอดคล้องกับที่ เพราพรรณ เปลี่ยนภู่ (2542: 319) กล่าวไว้ว่า คุณลักษณะของผู้มีแรงจูงใจต่ำ คือ ไม่ตั้งใจเรียนเวลาครูสอน เข้าห้องเรียนสายโดยไม่มีสาเหตุ ออกจากห้องเรียนทันทีเมื่อมีโอกาส ไม่เตรียมตัววางแผนก่อนเรียน มีทัศนคติที่ไม่แน่นอนในการเรียน ตรงกันข้ามกับผู้ที่มีแรงจูงใจในการเรียนสูง ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ มีความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จในการเรียน มุ่งหาความรู้ที่จำทำให้เกิดความดีงาม มีคุณค่า เป็นประโยชน์ มีเป้าหมายและกำหนดไว้ตรงกับความสามารถของตนเอง มีความทะเยอทะยานทางการเรียน กระตือรือร้นทางการเรียน มีความรับผิดชอบต่อตนเองทางการเรียน และมีการวางแผนทางการเรียน ดังคำกล่าวของ พระธรรมปิฎก (2544) ในพระธรรมเทศนาชุดตามพระใหม่ไปเรียนธรรม ที่ว่า “การที่จะดูว่าผู้ที่จะมีความตั้งใจในการเรียนหรือไม่ต้องดูทีแรงจูงใจที่ อยู่เบื้องหลัง” แรงจูงใจในการเรียนภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรน่าจะมาจากความสนใจที่มีต่อการ เรียน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัว ความเอาใจใส่ของผู้ปกครอง ครู ตลอดถึงรูปแบบการเรียนการสอน ล้วนน่าจะส่งผลถึงแรงจูงใจในการเรียนภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณรทั้งสิ้น
ผู้เขียน: พระมหารักษ์ทวี ญาณวิชโย (เถาโต) ป.ธ.7, ศน.บ.
ที่มา: สำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตาราม
ความคิดเห็น
mahapali
www.mahapali.com
ชวนคนไทยเรียนบาลีเป็นประเพณี
วายุ
สรรพสิ่งเป็นไปตามกฏไตรลักษณ์
ลองย้อนถามตัวเองว่า ถ้าเราเกิดมาในยุคนี้ (วัยที่กำลังศึกษาอยู่) บาลีจะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจเลือกศึกษาหรือไม่
แสดงความคิดเห็น