คำนำ
การเรียน การสอน การสอบและการตรวจข้อสอบ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการศึกษาก่อนที่จะประกาศผลสอบ การได้รับอาราธนาเป็นกรรมการตรวจข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวง ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของผู้ที่อยู่ในแวดวงของการศึกษาภาษาบาลี เพราะคำอาราธนาเท่ากับเป็นตราประทับยืนยันถึงความสามารถของผู้นั้นเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทุกกระบวนการของการศึกษาภาษาบาลี มีความยากง่ายอยู่ในตัว โดยเฉพาะกรรมการผู้ตรวจย่อมจะต้องใช้ความรู้ ความสามารถในเชิงวิชาการและประสบการณ์อันอุดมของตน ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง วินิจฉัยคำตอบของนักเรียนอย่างเที่ยงตรงและเที่ยงธรรมที่สุด เพื่อกลั่นกรองให้ได้บุคคลผู้มีคุณภาพเป็นศักดิ์ศรีของพระศาสนาโดยแท้
คู่มือกรรมการตรวจประโยคบาลีสนามหลวงนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำขึ้นเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำ ย้ำเตือนความเข้าใจของท่าน อีกครั้งหนึ่ง โดยเนื้อหาสาระได้รวบรวมจากหนังสือเรื่องสอบบาลี แนวคำบรรยายของพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้อาราธนามาเป็นวิทยากรถวายความรู้กรรมการแต่งตั้งใหม่ แสดงไว้พอเป็นสังเขป สำหรับกรรมการใหม่ ถ้าหากว่ามีตอนหนึ่งตอนใดผิดพลาด บกพร่อง ขอท่านผู้รู้ทั้งหลายได้โปรดเมตตาให้คำแนะนำ เพื่อจักได้ปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป
สำนักงานเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง
หลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง ที่ใช้ยุติอยู่ในปัจจุบัน
ประโยค 1-2 และเปรียญตรีปีที่ 1-2 หมวดบาลีศึกษา
- วิชาแปลมคธเป็นไทย โดยพยัญชนะและโดยอรรถ หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค 1 ถึง ภาค 4
- วิชาบาลีไวยากรณ์ หลักสูตรใช้หนังสือบาลีไวยากรณ์ ประเภทสอบถามความจํา
ประโยค ป.ธ. 3
- วิชาแปลมคธเป็นไทย โดยพยัญชนะและโดยอรรถ หลักสูตรใช้หนังสือธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค 5 ถึง ภาค 8
- วิชาสัมพันธ์ไทย หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค 5 ถึง ภาค 8
- วิชาบาลีไวยากรณ์ หลักสูตรใช้หนังสือบาลีไวยากรณ์ ประเภทสอบถามความจําและความเข้าใจประกอบกัน
- วิชาบุรพภาค ข้อเขียนภาษาไทย โดยแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบลักษณะวรรคตอน ตัวอักษร ตามสมัยนิยม หลักสูตรใช้หนังสือที่ควรรู้ เช่น จดหมายทางราชการ
ประโยค ป.ธ. 4
- วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค 1
- วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ มงฺคลตฺถทีปนีภาค 1
ประโยค ป.ธ. 5
- วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค 2 ถึง ภาค 4
- วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ มงฺคลตฺถทีปนี ภาค 2
ประโยค ป.ธ. 6
- วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค 5 ถึงภาค 8 แต่ในการสอบ กรรมการจะแปลประโยคที่ออกสอบเป็นความไทยโดยสันทัด หรืออาจดัดแปลงสํานวนและท้องเรื่อง หรือตัดตอนที่ต่างๆ มาเรียงติดต่อกันเป็นประโยคสอบไล่ก็ได้
- วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ ตติยสมนฺตปาสาทิกา
ประโยค ป.ธ. 7
- วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ มงฺคลตฺถทีปนีภาค 1
- วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ ปฐม-ทุติย-สมนฺตปาสาทิกา
ประโยค ป.ธ. 8
- วิชาแต่งฉันท์มคธ แต่งฉันท์เป็นภาษามคธ 3 ฉันท์ในจํานวน 6 ฉันท์คือ (1) ปัฐยาวัตร (2) อินทรวิเชียร (3) อุเปนทรวิเชียร (4) อินทรวงศ์ (5) วังสัฏฐะ (6) วสันตดิลก ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้
- วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ ปฐมสมนฺตปาสาทิกา
- วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ วิสุทฺธิมคฺค
ประโยค ป.ธ. 9
- วิชาแต่งไทยเป็นมคธ แต่งมคธจากภาษาไทยล้วน ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกําหนดให้
- วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ วิสุทฺธิมคฺค
- วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ อภิธมฺมตฺถวิภาวินี
คุณวุฒิและคุณสมบัติของกรรมการ
กรรมการผู้ตรวจบาลีสนามหลวง จะต้องเป็นผู้ได้รับหนังสือนิมนต์จากกองบาลีสนามหลวง โดยสนามหลวงแผนกบาลีได้มีข้อกําหนดด้านคุณวุฒิและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกรรมการตรวจไว้ดังนี้
- เป็นผู้ที่มีความรู้ตั้งแต่ ประโยค ป.ธ. 6 เป็นต้นไป ถ้ามีวุฒิเป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค ต้องเป็นพระราชาคณะ หรือเป็นพระครูสัญญาบัตรอย่างใดอย่างหนึ่ง
- การนิมนต์กรรมการจะนิมนต์เป็นการเฉพาะ จะให้ใครไปตรวจแทนไม่ได้ ถ้ารูปใดลาสิกขา มรณภาพ หรืออาพาธ ก็เป็นอันขาดไป และให้เจ้าสํานักเรียนส่งใบนิมนต์นั้นคืนให้สำนักงานเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวงทราบโดยด่วน
ในส่วนของคุณสมบัติของกรรมการผู้ตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงนั้น มีพระมหาเถระหลายรูป ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของกรรมการตรวจบาลีสนามหลวงไว้ดังนี้
เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อดีตแม่กองบาลีสนามหลวง ได้ให้โอวาทว่า
กรรมการผู้ตรวจข้อสอบสนามหลวงนั้นต้องมีคุณสมบัติในด้านความบริสุทธิ์ยุติธรรม เมื่อวันตรวจข้อสอบมาถึง พึงตั้งใจว่า ตลอด 4 - 5 วันนี้ จะวางธุระอย่างอื่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง เที่ยงธรรม และมีความยุติธรรม พึงวางตนปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการตรวจข้อสอบเหมือนกับการปฏิบัติหน้าที่ของศาล หรือผู้พิพากษา ฉะนั้น.
พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. 9) อาจารย์สอนชั้นประโยค ป.ธ. 9 ของสํานักเรียนคณะสงฆ์ส่วนกลางวัดสามพระยา เจ้าอาวาสวัดราชโอรส ได้บรรยายถวายความรู้แก่กรรมการผู้ตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวง ณ วัดปากนํ้า เขตภาษีเจริญ เมื่อปี พ.ศ. 2548 ดังความตอนหนึ่งว่า
กรรมการผู้ตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงต้องมีคุณสมบัติสําคัญ 4 ประการ คือ รู้ประจักษ์ หลักดี ถี่ถ้วน ล้วนยุติธรรม.
- รู้ประจักษ์ เช่น รู้ความหมายของศัพท์ การประกอบศัพท์ การปรุงศัพท์ สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสามารถมองภาพรวมของปัญหาว่า ทําไมข้อสอบออกตรงนี้ ทําไมเขาจึงใช้ศัพท์นี้ทําไมเขาจึงว่าไว้ตรงนี้เป็นต้น
- หลักดี เช่น มีความรู้พื้นฐาน ในวิชาที่ตรวจรู้หลักของการตรวจของสอบว่า กรณีไหนควรเก็บศัพท์สัมพันธ์และประโยค
- ถี่ถ้วน การตรวจข้อสอบในแต่ละชั้น แต่ละวิชาของนักเรียนทุกรูปจะต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน ทุกตอนทุกข้อ และไม่พึงรีบเร่ง ไปทำธุระอย่างอื่น
- ล้วนยุติธรรม เช่น กรรมการผู้ตรวจข้อสอบต้องมีความเที่ยงตรง ยุติธรรม มีความเป็นกลาง ไม่ใช้เก็บบ้าง ไม่เก็บบ้าง เช่น ในบางกรณีที่นักเรียนบางรูปอาจจะผิดเหมือนกัน เก็บของนักเรียนรูปแรก แต่นักเรียนรูปที่สองไม่เก็บ อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเก็บก็ต้องเก็บเหมือนกัน ถ้าไม่เก็บก็ต้องไม่เก็บเหมือนกัน ต้องไม่ให้เสียความเป็นกลาง
ข้อที่ควรทราบและข้อที่ควรปฏิบัติ
- ควรไปถึงสถานที่ตรวจ ก่อนการตรวจจะเริ่มขึ้นอย่างน้อยประมาณ 30 นาทีทั้งนี้เพื่อร่วมไหว้พระบูชาพระรัตนตรัย และรับฟังโอวาทจากแม่กองบาลีสนามหลวง
- ในการออกหนังสือนิมนต์กรรมการทุกครั้ง กองบาลีสนามหลวงได้ส่งปัญหาข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวงในชั้นประโยคที่อาราธนาตรวจมาถวาย ดังนั้น กรรมการทุกรูปควรนำไปพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจสอบกำหนดข้อ ผิด-ถูก ตามแนวทางปัญหาของข้อสอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสํานวนของการแปล เช่น ความแตกต่างของการแปล ซึ่งบางแห่งอาจจะแปลได้หลายนัย เป็นต้น ไม่ควรไปกําหนดใคร่ครวญข้อผิด-ถูกในขณะไปถึงสถานที่ตรวจ เพราะจะทําให้ขาดความยืดหยุ่น และอาจจะเกิดการแผ่เมตตาในฐานะอันไม่ควร
- วันแรกของการตรวจทางกองบาลสนามหลวงจักได้นําหนังสือเรื่องสอบบาลีสนามหลวง เนื้อหาของหนังสือส่วนหนึ่งจะมีสํานวนปัญหาและเฉลยปัญหาสนามหลวงประจํา พ.ศ.นั้นๆ รวมอยู่ด้วย วางไว้บนโต๊ะตรวจปัญหาเพื่อถวายกรรมการทุกรูป ดังนั้น เพื่อให้การตรวจมีประสิทธิภาพ กรรมการอาจจะทบทวนปัญหาที่ทุกท่านได้ใคร่ครวญจากวัดมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเปรียบเทียบดูกับสํานวนของสนามหลวงว่ามีความแตกต่าง หรือเหมือนกันอย่างไรหรือไม่ ทั้งนี้ จักเป็นประโยชน์ทั้งแก่กรรมการผู้ตรวจ และใบตอบของนักเรียนแต่ละรูปบ้าง ไม่มากก็น้อย
- การตรวจในแต่ละวันนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะแบ่งบึกให้มีจํานวนเท่ากับกรรมการผู้ตรวจ โดยประมาณ จะตรวจรูปละ 1 ปึก แต่บางวันก็เอาเกินจํานวนกรรมการบ้าง เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะต้องการจะอํานวยความสะดวกให้แก่กรรมการ บางรูปที่ท่านได้ตรวจในชั้นและวิชาที่ท่านมีทักษะและความชํานาญ อาจจะตรวจได้รวดเร็ว (แต่รอบคอบ) กว่ากรรมการรูปอื่นบ้างตามสมควร และกรรมการบางรูปอาจจะได้มาตรวจ เนื่องเป็นเพราะอาจจะได้รับหนังสือนิมนต์จากทางไปรษณีย์ช้า กรรมการในกองเดียวกันที่เหลือก็อาจจะต้องช่วยตรวจ 2 ปึกก็ได้ อย่างไรเสียสนามหลวงแผนกบาลีก็ขอความร่วมมือจากกรรมการทุกรูป ได้ช่วยรับภารธุระแทนสหธรรมิกและได้เกื้อกูลงานพระศาสนาส่วนนี้ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
- กรรมการทุกรูป ควรเอาใจใส่ต่อการตรวจอย่างแท้จริง เช่น เมื่อรู้วันตรวจข้อสอบประจําปีแล้ว ก็ไม่ควรรับภารธุระอย่างอื่นให้ตรงกับวันสอบ
- กรรมการทุกรูปที่อาจจะได้รับหนังสือนิมนต์ตรวจข้อสอบช้า ทำให้เดินทางมาตรวจไม่ทันเวลาหรือกรรมการบางรูปที่อาจจะมีกิจจำเป็นจริงๆ ไม่สามารถมาตรวจในปีนั้นได้ (ปีต่อไปจะมาอีก) หรืออาจจะมาตรวจได้ในวันใดวันหนึ่ง ต้องติดต่อประสานงานและแจ้งเรื่องดังกล่าวมายังกองบาลีสนามหลวงโดยด่วน ทั้งนี้เพื่อรักษาสิทธิ์ในการเป็นกรรมการตรวจเอาไว้ และหากไม่ดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง สนามหลวงอาจจะพิจารณาตัดสิทธิในการเป็นกรรมการในปีต่อไป
- ขณะตรวจไม่ควรพูดคุย หรือส่งเสียงดัง หรือพูดคุยโทรศัพท์ อันจักเป็นการรบกวนสมาธิกรรมการรูปอื่นๆ
- ไม่ควรให้ความเมตตาในสิ่งที่ไม่ควร ตัวอย่างเช่น ในการตรวจวันที่ 2 กรรมการบางรูปที่อาจจะคิดว่า นักเรียนได้ผ่านวันแรกมาแล้ว. การตรวจในวันที่ 2 ก็ไม่ควรเข้มงวดนัก ไม่อยากให้นักเรียนสอบตก หรือต้องไปสอบในครั้งที่ 2 ใหม่
อีกกรณีหนึ่ง การตรวจประโยค ป.ธ. 3 ในวิชาบุรพภาค กรรมการบางรูปอาจจะคิดว่า การตรวจไม่ควรให้ตกในวิชาบุรพภาค เพราะถ้าตกก็จะทําให้ตกทั้งหมดทุกวิชา หรือไม่มีโอกาสได้สอบครั้งที่ 2 จึงตรวจให้ผ่านไป
การปฏิบัติดังตัวอย่างข้างต้นนี้ไม่ควรประพฤติปฏิบัติโดยเด็ดขาด ต้องมีความยุติธรรมเป็นกลาง ถือปฏิบัติตามหลักการตรวจโดยเคร่งครัด ต้องไม่เสียความเป็นกลาง - ควรเซ็นชื่อให้ครบในใบตอบของนักเรียนทุกรูป (ทุกปึก) ไม่ว่าตนจะเป็นกรรมการรูปที่ 1, 2 หรือ 3 ก็ตาม ควรเปิดเช็คดูให้ครบทุกครั้งก่อนที่จะส่งคืนกรรมการจากกองบาลีสนามหลวง
- ในการลงคะแนน (ให้) ทุกครั้ง กรรมการโดยเฉพาะรูปที่ 2-3 ควรพิจารณาถึงคะแนนเก็บ (คะแนนที่ถูกหัก) ตรงมุมด้านขวาของใบตอบให้ดีก่อนลงคะแนนเช่น ใบตอบวิชาแปลมคธเป็นไทยของนักเรียนรูปหนึ่งถูกหัก 8 กรรมการรูปที่ 1 เขียน ให้ แล้วเซ็นชื่อกํากับ กรรมการรูปที่ 2 เขียนอีก ให้ แล้วเซ็นชื่อกํากับ กรรมการรูปที่ 3 ต้องเขียน 0 แล้วเซ็นชื่อกํากับ อย่าเผลอเขียน ให้ เป็นอันขาด ดังนั้น กรรมการทุกรูปต้องมีความรอบคอบในเรื่องการให้คะแนนด้วย
- การเก็บคะแนน หรือการตรวจให้คะแนนและลงนามของกรรมการทุกรูป ในกองเดียวกันควรทําด้วยความรอบคอบ และมีความเป็นเอกภาพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในการแก้ไขการตรวจให้-เก็บคะแนนของกันและกัน ตัวอย่างเช่น ใบตอบของนักเรียนบางรูป กรรมการรูปแรก หัก 7 หรือ 8 คะแนน (ได้ 2 ให้ หรือ ให้-ให้) กรรมการรูปที่สอง รับช่วงมาเพื่อใคร่ครวญให้คะแนนต่อ แล้วอาจจะพิจารณาเห็นว่า การหักดังกล่าวอาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเก็บถึง 7 หรือ 8 คะแนน จะแก้ไขเป็น 5 หรือ 6 คะแนน เพื่ออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ 3 ให้ หรือ ให้ ให้ ให้ ก็ได้
อีกกรณีหนึ่ง ใบตอบของนักเรียนบางรูป กรรมการรูปแรก หักเกิน 18 และหากจะนับคะแนนที่ถูกหักอาจจะได้ถึง 25-30 อยู่ในเกณฑ์ที่ได้ 0 ให้ กรรมการรูปที่สอง รับช่วงมาเพื่อใคร่ครวญให้คะแนนต่อแล้ว อาจจะพิจารณาเห็นว่า การหักดังกล่าวอาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะเก็บเกินถึง 18 จะแก้ไขเป็น 1-6 หรือ 7-12 คะแนน เพื่ออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ 2 ให้ หรือ 3 ให้ (ให้-ให้ หรือ ให้-ให้-ให้) อย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่เกินวิสัยเกินไป ที่ใบตอบซึ่งถูกหักเกิน 18 แล้วจะกลับมาได้ 2 ให้หรือ 3 ให้ การกระทําดังกล่าว อาจจะเป็นการบ่งบอกถึงการให้ความเมตตาในฐานะที่ไม่ควร อีกทั้งอาจจะเป็นการแสดงออกถึงการไม่ให้เกียรติภูมิปัญญากรรมการภายในกองเดียวกันอีกด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทําอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยการเก็บคะแนนในใบตอบฉบับใดฉบับหนึ่งของกรรมการรูปใดรูปหนึ่ง ควรคุยพูดปรึกษา ขอความเห็นคณะกรรมการผู้ตรวจหรือกรรมการภายในกองเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อความเป็นเอกภาพ และเพื่อพิจารณาหาทางออกในทางที่เหมาะสม โดยยึดเกณฑ์การให้คะแนนเป็นบาลีสนามหลวงเป็นหลัก ควรให้ผ่านเลยไปตามอัตโนมัติ - เกณฑ์การตรวจนั้น เป็นหลักการอย่างกว้างๆ ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุม ในทุกลักษณะของความผิด แต่จะอย่างไรก็ตาม การที่นักเรียนจะถูกเก็บศัพท์ สัมพันธ์ หรือประโยคนั้น เป็นดุลยพินิจของกรรมการแต่ละรูป แต่การเก็บคงไม่ถึงกับเก็บหยุมหยิม เช่น เขียนภาษาไทยผิด ใช้ศัพท์ผิดไปจากเฉลย ทั้งที่ใช้แทนกันได้เป็นต้น
แต่บ้างกรณี ใบตอบของนักเรียนที่สับสน ตัดสินใจลำบาก กรรมการภายในกองก็อาจจะพิจารณาร่วมกันได้ และที่สําคัญ กรรมการทุกรูปที่ได้รับการพิจารณานิมนต์มาตรวจนั้น สนามหลวงแผนกบาลีพิจารณาเห็นแล้วว่า เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านการตรวจ และที่สําคัญกรรมการบางรูปก็ยังทําหน้าที่เป็นครูสอนในชั้นนั้น วิชานั้นอีกด้วย จึงทําให้การตรวจข้อสอบมีความยืดหยุ่น อีกทั้งยังหมายรวมถึงการให้ความเมตตาแก่นักเรียนในทางที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล - กรรมการทุกรูป ควรละเว้นการเซ็นชื่อลงในบัญชี (เล่มสีเหลือง) ของการมาปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจแทนกรรมการรูปอื่น โดยที่กรรมการรูปดังกล่าวไม่ได้มาปฏิบัติหน้าที่จริง อันจะเป็นการผิดสมณวิสัย
- กรรมการผู้ได้รับแต่งตั้งใหม่ คือได้รับนิมนต์ให้ตรวจเป็นปีแรก ก็จะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากสมเด็จฯ แม่กองบาลีสนามหลวง โดยสนามหลวงแผนกบาลีจะนิมนต์เข้ารับใบแต่งตั้งในวันปฐมนิเทศกรรมการแต่งตั้งใหม่
- สนามหลวงแผนกบาลีต้องขอแสดงความอภัยต่อพระสงฆ์ทุกรูปที่ได้ส่งรายนามครูสอนประจำชั้นต่างๆ เพื่อให้กองบาลีสนามหลวงพิจารณานำเสนออนุมัติแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ แต่กองบาลีสนามหลวงไม่อาจจะพิจารณาให้ทุกรูปเป็นกรรมการ เพราะมีพระสงฆ์เป็นจํานวนมาก อย่างไรก็ตามสนามหลวงจะพิจารณาแต่งตั้งเป็นครั้งคราวไปในทุกๆ ปีที่ถึงกระบวนการตรวจข้อสอบ
หลักการตรวจบาลีสนามหลวง
การตรวจข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวง จัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะประกาศผลสอบ ซึ่งทางแม่กองบาลีสนามหลวงจักได้อาราธนากรรมการมาตรวจเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เพื่อกลั่นกรองให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพเป็นศรีแก่พระพุทธศาสนาโดยตรง การตรวจนั้น มีหลักที่ทางกองบาลีสนามหลวงได้วางไว้ถือปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้คือ
- ตรวจบริบท คือ ส่วนข้างเคียงคำตอบที่ผู้สอบทำไว้ในกระดาษคำตอบ เช่น ความสะอาด การเว้นวรรคตอน การทําเครื่องหมาย ความตั้งใจในการตอบ ดูจากการเขียนและอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคําตอบของผู้ตอบ คือ ถ้าคําตอบส่วนใหญ่ไม่ถูก อยู่ในเกณฑ์เกือบจะตก แต่ถ้าพิจารณาบริบทดูแล้วเห็นว่า ไม่เรียบร้อย ยังไม่สมควรให้ผ่านจะตรวจให้ละเอียด อีกครั้งเพื่อเก็บคะแนนให้เป็นตกก็ไม่น่าเกลียดอะไร
- ตรวจภูมิ คือ ความรู้ที่ผู้สอบในแต่ละระดับชั้นจะต้องรู้ ภูมิจะสูงหรือตํ่าอยู่ที่ระดับชั้น เช่น ภูมิ ป.ธ. 6 ย่อมตํ่ากว่าภูมิ ป.ธ.7 เป็นต้น ภูมินี้สําคัญมาก สมควรที่ผู้ตรวจจะต้องพิถีพิถันละเอียดละออให้มาก เป็นการกลั่นกรองผู้ที่เหมาะสมจะเป็นครูอาจารย์และเป็นผู้สืบต่อพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคตส่วนหนึ่งด้วย
ตรวจภูมิ นั้นคือ ตรวจหลักต่างๆ เช่น หลักการแปลไทยเป็นมคธ หรือหลักการเรียง หลักไวยากรณ์ หลักการเขียนหนังสือ หลักการสะกดการันต์ หลักภาษา เป็นต้น - ตรวจเนื้อหา คือ คําตอบที่เป็นตัวหนังสือ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสําคัญในการตรวจ การสอบได้หรือสอบตกอยู่ที่เนื้อหาคําตอบนี้ ถ้าผู้สอบทําได้เหมือนแบบ หรือตรวจโดยละเอียดแล้วไม่พบข้อผิดพลาดมากเกินไป อยู่ในเกณฑ์ที่จะให้ผ่านได้ ก็ต้องให้ผ่าน แม้ว่า บางรายจะมีบริบทไม่ดี แต่เนื้อหาใช้ได้ ก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ผู้สอบนั้นไป
การตรวจเนื้อหา ผู้ตรวจจะต้องเคร่งครัดในหลักเกณฑ์ วางใจเป็นอุเบกขา มีความยุติธรรม เห็นแก่พระศาสนามากกว่าเห็นแก่บุคคล ไม่มักง่าย ไม่สุกเอาเผากิน ไม่ฆ่าผู้สอบ เพราะความรีบร้อนหรือสะเพร่า ไม่ช่วยผู้สอบด้วยอ้างว่ามีเมตตาธรรมสูง เพราะการกระทำเช่นนั้นมิใช่เมตตาที่แท้จริง เป็นการขาดความรับผิดชอบ เป็นการทําลายวงการบาลีและพระศาสนา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือจะทําให้ได้พระเปรียญที่มีภูมิปัญญาไม่สมกับระดับชั้นมาเป็นครูอาจารย์หรือบริหาร กิจการพระศาสนาต่อไป เป็นเรื่องที่พึงตระหนัก ขอให้เป็นไปตามหลักกรรมคือ ทําได้ก็สอบได้ ทำไม่ได้หรือทำไม่ดีก็สอบตก พึงตระหนักคุณภาพมากกว่าปริมาณ ปริมาณแม้มีมาก แต่ไม่สามารถ ก็ยังประโยชน์ให้สําเร็จไม่ได้ ส่วนปริมาณที่มีน้อยแต่มีความสามารถ ก็อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ เหมือนหมู่คนโง่ไม่อาจทําการใหญ่ให้สําเร็จได้ ส่วนบัณฑิตแม้เพียงคนเดียว ก็อาจทําการใหญ่ให้สําเร็จได้
หลักเกณฑ์ความผิด
ในเนื้อหาสําหรับวิชาแปลไทยเป็นมคธมีเกณฑ์ความผิดอยู่ 3 อย่าง คือ ผิดศัพท์-ผิดสัมพันธ์-ผิดประโยค
1. ผิดศัพท์ หมายถึง ความผิดในกรณีต่อไปนี้
1.1 ใช้ศัพท์ผิด หรือ ใช้ศัพท์ที่มีความหมายต่างไปจากความหมายที่ต้องการในภาษาไทย เช่น ความไทยว่า กิน ต้องดูเจ้าของกิริยาก่อนว่าใครกิน กินอะไร แล้วใช้ศัพท์ไปตามความหมายนั้น เช่น
ความไทย : คนกินข้าว.
แต่งเป็น : มนุสฺโส โภชนํ ภุญฺชติ. (ถูก)
แต่งเป็น : มนุสฺโส โภชนํ ขาทติ. (ผิด)
1.2 การเขียนบาลีผิด ตัวอย่างเช่น
ตฺวํ เขียนเป็น ตวํ, อุปสงฺกมิตฺวา เขียนเป็น อุปสํกมิตฺวา, อานิสํโส เขียนเป็น อานิสงฺโส, คนฺตฺวา เขียนเป็น คนฺตวา หรือ คนฺวา,
ภิกฺขุนี เขียนเป็น ภิกฺขุณี, วีรียํ เขียนเป็น วิริยํ เป็นต้น
1.3 ใช้ศัพท์ที่แม้จะแปลเป็นไทยได้เหมือนกัน แต่มีความหมายไปคนละอย่าง เช่น
ความไทย : พระอานนทเถระ เป็นผู้ฉลาด.
แต่งเป็น : อานนฺทตฺเถโร เฉโก โหติ. (ผิด)
แต่งเป็น : อานนฺทตฺเถโร ปณฺฑิโต โหติ. (ถูก)
1.4 การตกศัพท์ คือ ไม่เขียนศัพท์ที่ต้องใช้ไว้ในกระดาษใบตอบ จะเป็นเพราะลืม หรือจําศัพท์ไม่ได้ก็ตาม ทําให้เนื้อความไม่ชัดเจน หรือเสียความไป ในกรณีเช่นนี้ให้เก็บทุกศัพท์ที่ตก เช่นความไทย: เศรษฐี ได้ให้เครื่องบริหารครรภ์แก่นาง.
แต่งเป็น : เสฏฺฐี ตสฺสา อทาสิ. (ผิด)
แต่งเป็น : เสฏฺฐี ตสฺสา คพฺภปริหารํ อทาสิ. (ถูก)
2. ผิดสัมพันธ์ ในกรณีต่อไปนี้คือ
2.1 ผิดกาล ตัวอย่างเช่น
ความไทย : วันหนึ่ง เขาไปยัง ท่าอาบน้ำ อาบน้ำแล้ว กำลังมา... กระทำความปรารถนาแล้วหลีกไป.
แต่งเป็น : โส เอกทิวสํ นหานติตฺถํ คนฺตฺวา นหาตฺวา อาคนฺตฺวา ฯเปฯ ปตฺถนํ กตฺวา ปกฺกามิ. (ผิด)
แต่งเป็น : โส เอกทิวสํ นหานติตฺถํ คนฺตฺวา นหาตฺวา อาคจฺฉนฺโต ฯเปฯ ปตฺถนํ กตฺวา ปกฺกามิ. (ถูก)
2.2 ใช้วิภัตติผิด ตัวอย่างเช่น
ความไทย : พระเถระเห็นภิกษุที่จะไปกับตนแล้วจึงบอกความนั้น.
แต่งเป็น : เถโร ภิกฺขู อตฺตนา สทฺธึ คจฺฉนฺตา ทิสฺวา ตมตฺถํ อาโรเจสิ. (ผิด)
แต่งเป็น : เถโร ภิกฺขู อตฺตนา สทธึ คจฺฉนฺเต ทิสฺวา ตมตฺถํ อาโรเจสิ. (ถูก)
ความไทย : นกอยู่บนต้นไม้
แต่งเป็น : สกุโณ รุกฺขสฺส โหติฯ (ผิด)
แต่งเป็น : สกุโณ รุกฺเข โหติ. (ถูก)
ความไทย : ฉันจะไปวัด.
แต่งเป็น : อหํ วิหาเร คมิสฺสามิ. (ผิด)
แต่งเป็น : อหํ วิหารํ คมิสฺสามิฯ (ถูก)
2.3 ใช้วจนะผิด ตัวอย่างเช่น
ความไทย : พวกมนุษย์เห็นเหล่าภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรมีจิตเลื่อมใสจึงปูอาสนะแล้วนิมนต์ให้นั่ง.
แต่งเป็น : มนุสฺสา วตฺตสมฺปนฺเน ภิกฺขู ทิสฺวา ปสนฺนจิตฺตา อาสนํ ปญฺญาเปตฺวา นิสีทาเปสุํ. (ผิด)
แต่งเป็น : มนุสฺสา วตฺตสมฺปนฺเน ภิกฺขู ทิสฺวา ปสนฺนจิตฺตา อาสนานิ ปญฺญาเปตฺวา นิสีทาเปสุํ. (ถูก)
2.4 ใช้ศัพท์ผิดลิงค์ ตัวอย่างเช่น
ความไทย : ต้นไม้นี้จักเป็นต้นไม้ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่สิงอยู่.
แต่งเป็น : อิทํ รุกฺโข มเหสกฺขาย เทวตาย ปริคฺคหิโต ภวิสฺสติ. (ผิด)
แต่งเป็น : อยํ รุกฺโข มเหสกฺขาย เทวตาย ปริคฺคหิโต ภวิสฺสติ. (ถูก)
2.5 เรียงศัพท์ไว้ผิดที่ คือ ศัพท์ซึ่งมีเนื้อความที่จะต้องเข้ากับศัพท์นี้ แต่ไปเรียงไว้ใกล้ศัพท์อื่น ซึ่งสามารถแปลหรือสัมพันธ์เข้ากับศัพท์อื่นนั้นได้ เช่น เรียงไว้หน้าศัพท์นั้น เป็นต้น เช่น
ความไทย : พระเถระนั้น พาภิกษุทั้งหลายไปที่นั่นแล้ว คิดว่า ...
แต่งเป็น : โส เถโร ตตฺถ ภิกฺขู อาทาย คนฺตฺวา จินฺเตสิ. (ผิด)
แต่งเป็น : โส เถโร ภิกฺขู อาทาย ตตฺถ คนฺตฺวา จินฺเตสิ. (ถูก)
3. ผิดประโยค หมายถึง ความผิดในกรณีต่อไปนี้
3.1 เรียงเลขนอกเลขในผิด คือ นำความในเลขในไปไว้ข้างนอก นําความข้างนอกเข้ามาไว้ในเลขใน
ความไทย : ในกาลมีจักษุวิกล เดี๋ยวนี้ พระเถระ ไว้ตัวว่าจงกรม ทําสัตว์มีประมาณถึงเท่านี้ให้ตายแล้ว ท่านคิดว่าจักทําประโยชน์ กลับทํากรรมหาประโยชน์มิได้.
แต่งเป็น : อิทานิ เถโร จกฺขุวิกลกาเล จงฺกมตีติ เอตฺตเก ปาเณ มาเรสีติ อตฺถํ กริสฺสามีติ อนตฺถํ อกริ. (ผิด)
แต่งเป็น : อิทานิ เถโร จกฺขุวิกลกาเล จงฺกมามีติ เอตฺตเก ปาเณ มาเรสิ. อตฺถํ กริสฺสามีติ อนตฺถํ อกริ. (ถูก)
3.2 ใช้ประธานกับกิริยาผิดบุรุษกัน ตัวอย่างเช่น
ความไทย : ฉันจะไปวัด.
แต่งเป็น : อหํ วิหารํ คมิสฺสติ. (ผิด)
แต่งเป็น : อหํ วิหารํ คมิสฺสามิ. (ถูก)
3.3 ใช้ประธานกิริยาผิดวจนะกัน ตัวอย่างเช่น
ความไทย : พวกภิกษุจึงกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าฯ
แต่งเป็น : ภิกฺขู ภควโต ตมตฺถํ อาโรเจสิ. (ผิด)
แต่งเป็น : ภิกฺขู ภควโต ตมตฺถํ อาโรเจสุํ. (ถูก)
3.3 ผิดศัพท์หรือผิดสัมพันธ์มากแห่งในประโยคเดียวกันจนไมเป็นประโยค จนจับใจความไม่ได้
3.4 แต่งผิดจนไม่อาจจับใจความได้ทั้งประโยค ความผิดต่างๆ นี้บางอย่างชัดแจ้ง บางอย่างไม่ชัดแจ้งจึงต้องใช้ดุลยพินิจให้มาก หรืออาจปรึกษากันในกรรมการที่ตรวจด้วยกัน เพื่อเป็นแนวทางในการตัดคะแนนเป็นอย่างเดียวกัน เพื่อความยุติธรรม
เกณฑ์การให้คะแนน
- ผิดศัพท์ 1 ศัพท์เก็บ 1 คะแนน โดยขีดเส้นใต้คําที่ผิด แล้วเขียนตัว ศ. ไว้บนศัพท์นั้น เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าผิดอะไร
- ผิดสัมพันธ์ 1 แห่ง เก็บ 2 คะแนน โดยขีดเส้นใต้ศัพท์ที่ผิดแล้ว เขียนตัว ส. ไว้บนศัพท์นั้น
- ผิดประโยค 1 ประโยค เก็บ 6 คะแนน โดยขีดเส้นใต้ทั้งประโยคหรือ เฉพาะส่วน แล้วเขียนตัว ป. ไว้ด้านบนประโยคนั้น
ในกรณีที่แต่งผิดจนไม่อาจจับใจความได้ทั้งประโยค แม้จะมีเนื้อความเพียงประโยคเดียว แต่มีข้อความยาวหลายบรรทัด มีเกณฑ์การเก็บคะแนนพิเศษ คือ
ถ้าประโยคยาวเกิน 3 บรรทัด ให้นับเป็นผิดเกิน 18
ถ้าประโยคยาวไม่เกิน 3 บรรทัด ให้นับเป็นผิด 18
ถ้าประโยคยาวไม่เกิน 2 บรรทัด ให้นับเป็นผิด 12
ถ้าประโยคยาวไม่เกิน 1 บรรทัด ให้นับเป็นผิด 6
เกณฑ์การปรับคะแนน [เป็นให้]
ในการสอบบาลีนั้น ท่านกำหนดให้ส่อบได้หรือไม่ได้ ด้วยการนับคะแนนที่ปรับเป็น ให้ โดยมีเกณฑ์การปรับ ดังนี้
ผิด 1 ถึง 6 ให้ 3 ให้
ผิด 7 ถึง 12 ให้ 2 ให้
ผิด 13 ถึง 18 ให้ 1 ให้
ผิดเกิน 18 ลง 0 ทั้งหมด
วิธีตรวจวิชาแปลมคธเป็นไทย-สัมพันธ์-บาลีไวยากรณ์
- แปลผิดศัพท์ หรือ เรียกชื่อสัมพันธ์ผิด ในวิภัตติเดียวกัน เช่น สัตตมีวิภัตติ มีชื่อเรียก อาธาร หลายอย่าง
ศัพท์ที่สัมพันธ์ที่ถูก เป็นอุปสิเลสิกาธาร แต่เรียกผิดเป็น วิสยาธาร ดังนี้ชื่อว่า ผิดศัพท์ - แปลเสียสัมพันธ์ หรือ เรียกชื่อสัมพันธ์ผิดต่างวิภัตติกัน เช่น เรียก สัตตมีวิภัตติที่เป็นอาธาร แต่เรียกผิดเป็นฉัฏฐีวิภัตติว่า สามีสัมพันธะ
หรือสัมพันธ์เข้าผิดที่ในประโยคเดียวกัน ชื่อว่า ผิดสัมพันธ์ - แปลสับ (สลับ) ประโยค หรือ สัมพันธ์สับประโยค เช่น เอาประโยคเลขนอกกับเลขในปนกันก็ดี ใช้ประธานกับกิริยาผิดบุรุษกันก็ดี แปลหรือสัมพันธ์ผิดจนไม่เป็นรูปก็ดี เหล่านี้ชื่อว่า ผิดประโยค
การเก็บคะแนน
ผิด 1 ศัพท์ เก็บ 1 คะแนน
ผิด สัมพันธ์ 1 แห่ง เก็บ 2 คะแนน
ผิดประโยค 1 ประโยค เก็บ 6 คะแนน
การปรับ
นับคะแนนที่เก็บแล้วนั้นๆ รวมกันเข้า
ผิด 1 ถึง 6 ให้ 3 ให้
ผิด 7 ถึง 12 ให้ 2 ให้
ผิด 13 ถึง 18 ให้ 1 ให้
ผิดเกิน 18 ลง 0 ทั้งหมด
แต่ข้อว่า แปลหรือสัมพันธ์ผิดจนไม่เป็นรูปนั้น มีหลักปฏิบัติดังนี้
ถ้าประโยคยาวเกิน 3 บรรทัด นับเป็นผิดเกิน 18
ถ้าประโยคยาวไม่เกิน 3 บรรทัด นับเป็นผิด 18
ถ้าประโยคยาวไม่เกิน 2 บรรทัด นับเป็นผิด 12
ถ้าประโยคยาวไม่เกิน 1 บรรทัด นับเป็นผิด 6
วิธีตรวจวิชาบุรพภาค ประโยค ป.ธ.3
การปรับและการเก็บคะแนน
วางรูปจดหมายราชการผิดหมด เป็นตก
และนอกจากนี้ ผิดย่อหน้า 1 แห่ง เก็บ 2 คะแนน
ผิดวรรคตอนถึงเสียรูปหรือเสียความ 1 แห่ง เก็บ 1 คะแนน
ผิดอักษร 1 ตัว เก็บ 1 คะแนน
เมื่อรวมคะแนนความผิดทั้งหมดได้เกิน 12 ปรับเป็นตก
วิธีตรวจวิชาบาลีไวยากรณ์
การตรวจวิชาบาลีไวยากรณ์ใช้กรรมการตรวจ จํานวนกองละ 3 รูป
เท่ากับจํานวนของการตรวจวิชาอื่นๆ ข้อสอบมีจํานวน 7 ข้อๆ ละ 10 คะแนน
การเก็บคะแนนก็ถือคะแนนเต็มคือ 10 คะแนนเป็นหลัก
สมมติว่า ปัญหาข้อหนึ่ง นักเรียนตอบถูกครึ่งหนึ่ง ก็จะได้ 5 คะแนน เพราะฉะนั้นจึงผิดครึ่งหนึ่ง ก็จะถูกหัก 5 คะแนน
ให้เขียนคะแนนที่ถูกหัก ไว้ภายในข้อนั้นด้านขวามือ
[แม้ข้อที่ได้คะแนนเต็ม 10 ไม่ถูกหัก ก็ควรเขียนเครื่องหมายถูกไว้ เพื่อให้ทราบว่าเป็นข้อที่ตรวจแล้ว]
พิจารณาตรวจไปอย่างนี้ทุกข้อ (ดูรูปที่ 5, 6 หน้า)
เมื่อตรวจครบทั้ง 7 ข้อแล้ว ให้รวมคะแนนที่ถูกเก็บทุกข้อ รวม 7 ข้อ
ได้เท่าไร ให้เขียนไว้ตรงมุมด้านขวาของกระดาษใบตอบ แล้วให้คะแนน (ให้เป็น "ให้") ที่ด้านซ้ายมือของกระดาษใบตอบ
ถือคติเดียวกับการตรวจวิชาอื่นๆ ซึ่งรายละเอียดการตรวจ จักได้อธิบายต่อไป
วิธีรวมคะแนนวิชาบาลีไวยากรณ์
ผิด 1 ถึง 15 ให้ 3 ให้
ผิด 16 ถึง 20 ให้ 2 ให้
ผิด 21 ถึง 25 ให้ 1 ให้
ผิดเกิน 25 ลงศูนย์ 0 คือตก
กําหนดชั้นและวิชาที่สอบได้
ประโยค ป.ธ. 3 มี 3 วิชา
ก. 3, 3, 3 ได้ชั้นเอก
ข. 3, 3, 2 ได้ชั้นโท
ค. 3, 2, 2 ได้ชั้นตรี
ฆ. 2, 2, 2 ได้ชั้นตรี
ง. 3, 3, 1 ได้นอกชั้น
จ. 3, 2, 1 ได้นอกชั้น
ฉ. 2, 3, 1 ได้นอกชั้น
(เฉพาะวิชาแปลมคธเป็นไทย ต้องได้ 2 หรือ 3 ให้)
หมายเหตุ
- วิชาบุรพภาค เพราะเป็นวิชาที่นักเรียนต้องสอบผ่านอยู่แล้ว ถึงจะได้รับการพิจารณาว่าได้ ชั้นเอก, โท, ตรี หรือนอกชั้น ทั้งนี้เพราะเกณฑ์การปรับคะแนนของวิชานี้จะมีเพียง 0 ให้หรือไม่ก็ 3 ให้เท่านั้น ไม่มี 1 หรือ 2 ให้ เหมือนวิชาอื่นๆ ดังนั้นวิชาบุรพภาค นักเรียนต้องสอบให้ได้ 3 ให้อย่างเดียวเท่านั้น จึงจะถือว่าสอบผ่าน แต่หากได้ 0 ให้แล้ว ถึงแม้อีก 3 วิชา จะได้ 3 ให้ทั้งหมด ก็ถือว่าสอบตก
- วิชาบาลีไวยากรณ์ การที่ใบตอบของนักเรียนบางรูปที่ได้ 1 ให้ยังถือว่ามีค่า (ไม่เหมือนในประโยค 1-2 ที่ต้องได้2 ให้ขึ้นไป) กล่าวคือ เมื่อนําไปรวมกับ วิชา แปลมคธเป็นไทย ซึ่งอาจจะได้ 3 กับ 2 ให้ โดยจะเป็น 3 2 1 หรือ 2 3 1 รวมทั้ง 3 วิชาเป็น 6 ให้ จึงถือว่าสอบได้ แต่ถ้าเป็น 2 2 1 รวมเป็น 5 ให้ อย่างนี้ไม่ได้ ถือว่าสอบตก
- คําว่า ได้นอกชั้น ในที่นี้หมายความว่า สอบได้ (สอบได้-ผ่านประโยค ป.ธ. 3) เช่นเดียวกัน แต่เป็นการสอบได้นอกชั้น กล่าวคือ ชั้นปกติจะมีเพียง 3 ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรีดังได้แสดงไว้ในข้อ ก-ฆ ข้างต้นนี้
ประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ. 4, 5, 6, 7 มี 2 วิชา
ก. 3, 3 ได้ชั้นเอก
ข. 3, 2 ได้ชั้นโท
ค. 2, 2 ได้ชั้นตรี (นอกนี้ตก)
ประโยค ป.ธ. 8-9 มี 3 วิชา
ก. 3, 3, 3 ได้ชั้นเอก
ข. 3, 3, 2 ได้ชั้นโท
ค. 3, 2, 2 ได้ชั้นตรี
ฆ. 2, 2, 2 ได้ชั้นตรี (นอกนี้ตก)
วิธีตรวจวิชาสัมพันธ์
1. ลําดับการสัมพันธ์
- อาลปนะ
- นิบาตต้นข้อความ
- กาลสัตตมี
- ตัวประธาน
- กิริยาคุมพากย์
- บทที่เหลือ
หมายเหตุ
- ต้นเรื่องต้องเติม มยา วุจจเต.
- จบเรื่อง ต้องเติม นิฏฺฐิโต, นิฏฺฐิตา, นิฏฺฐิตํ สุดแท้แต่บทประธาน.
- คาถา หรือ อรรถกถาต้องเติม (ประธาน) อิทํ คาถมาห หรือ อิมา คาถา อภาสิ, อตฺโถ ปณฺฑิเตน เวทิตพฺโพ วินิจฺฉโย, วิคฺคโห ปณฺฑิเตน..กาตพฺโพ.
- การสัมพันธ์ ให้ใช้หลัก 3 ต ดังนี้
- ตาม สัมพันธ์ตามศัพท์ที่มีอยู่ในประโยคนั้นๆ
- เติม สัมพันธ์ศัพท์ที่เติมเข้ามาให้ประโยคนั้นๆ ให้สมบูรณ์
- ตัด ศัพท์สนธิต้องตัดก่อนจึงสัมพันธ์
2. กลุ่มศัพท์และบทสัมพันธ์ลอย
- อาลปน - นิบาตต้นข้อความ
- ลิงคัตถะ - กิริยาคุมพากย์
- วิวรณะ - สัญญี - สัญญา
- อิติ (นิทสฺสน, เหตวตฺถ, ปการตฺถ, สมาปนฺน, ปริสมาปนฺน)
- กิริยาปรามาส, ปุจฺฉนตฺถ
- ยถา ตถา-เอวํ (ฉันใด ฉันนั้น) (โดยประการใด โดยประการนั้น)
3. คําเชื่อมในการสัมพันธ์ มี 3 คํา คือ ใน-ของ-เข้ากับ
- ใน..ตัวประธาน และทุติยา . สัตตมีวิภัตติ เว้น สหัตถตติยา (เข้ากับ)
- กิริยาวิเสสน, อัพภันตรกิริยา เข้ากับกิริยา "ใน", เข้ากับตัวประธาน "ของ"
- ของ... วิเสสนะ, อัพภันตรกิริยา, วิเสสลาภี, วิเสสนลิงคะ วิปัลลาส, วิเสสนวจนวิปลลาส
- เข้ากับ... อิติ (ชื่อว่า) และนิบาต คือ ว, เอว, วา, ปิ, จ, อปิ, อิว, วิย, นาม เป็นต้น
การตรวจข้อสอบประโยคบาลีสนามหลวง
การตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงนั้น จะเป็นไปในรูปของคณะกรรมการ คือจะมีกรรมการตรวจกองหนึ่ง จํานวน 3 รูป ดังนั้น จึงให้สิทธิ์กรรมการทั้ง 3 รูป จะพิจารณาร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การตรวจเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และกลั่นกรองบุคลากรที่มีคุณภาพของศาสนา ซึ่งมีลําดับการดําเนินการตรวจดังนี้
กรรมการรูป ที่ 1 เมื่อได้รับใบปัญหา (ปึกหนึ่งอาจจะมี 10.15-20 ฉบับ) จากเจ้าหน้าที่กองบาลีสนามหลวงแล้ว ก็ให้ตรวจทีละฉบับ เช่น การตรวจฉบับแรก (วิชาแปลมคธเป็นไทย)ไม่ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ 3, 2, 1 หรือ 0 ให้ก็ตาม กรรมการรูปแรกจะมีสิทธิ์ให้คะแนนได้เพียง หนึ่ง ให้ หรือ หนึ่ง 0 เท่านั้น เช่น ใบตอบของนักเรียนฉบับหนึ่ง ถูกเก็บ 5 คะแนน ก็อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้ 3 ให้ กรรมการรูป ดังกล่าวจะรวมคะแนนที่ถูกเก็บ 5 คะแนนนี้ไว้ด้านมุมขวามือด้านบนของกระดาษใบตอบ และเขียนคําว่า ให้ (เพียงให้เดียว) ไว้ที่มุมด้านซ้าย แล้วเซ็นชื่อกํากับไว้ จากนั้นก็ตรวจฉบับอื่นๆ ต่อไป เมื่อกรรมการรูปแรกตรวจเสร็จหมดทั้งปึกแล้ว ส่งต่อกรรมการรูปที่ 2 เพื่อพิจารณาต่อไป (รูปที่1)
กรรมการรูปที่ 2 เมื่อรับปึกใบตอบมาจากกรรมการรูปที่1 ก็พิจารณาว่า ใบตอบที่ถูกเก็บ 5 คะแนนนั้น ท่านเห็นด้วยกับกรรมการรูปที่ 1 หรือไม่ หากเห็นด้วย ก็ให้เขียนเพิ่มคําว่า ให้ ให้ เข้าไป (รวมเป็น ให้ ที่สอง) เรียงลําดับลดหลั่นลงมาต่อจากกรรมการรูปที่ 1 หากไม่เห็นพ้องต้องกันก็แก้ไขได้ตามความเหมาะสม โดยอาศัยเกณฑ์การตรวจของสนามหลวง ซึ่งกรรมการรูปที่ 2 นี้อาจจะมีความเห็นแตกต่างกรรมการรูปที่1 เช่น อาจจะปรับลดจากถูกเก็บ 5 คะแนน มาเหลือ 1 คะแนนก็ได้หรือเก็บเพิ่มจาก 5 คะแนน เป็น 8 -9-10 ฯลฯ คะแนน ก็มีสิทธิ์ทําได้ เมื่อตรวจเสร็จทั้งปึกแล้ว ส่งต่อกรรมการรูปที่ 3 เพื่อพิจารณาต่อไป
กรรมการรูปที่ 3 ให้ถือปฏิบัติเหมือนกรรมการรูปที่ 2 หากเห็นด้วย ก็เขียนเพิ่มคําว่า ให้ ให้ ให้. เข้าไป (รวมเป็น ให้ที่สาม ซึ่งก็ครบตามเกณฑ์) โดยเรียงลดหลั่นลงมาตามลําดับต่อจากกรรมการรูปที่ 2 แล้วเซ็นชื่อกํากับไว้ หากไม่เห็นด้วยก็แก้ไขได้ แต่อาจจะปรึกษากันทั้ง 3 รูปก็ได้
หมายเหตุ กรรมการในแต่ละกองทั้ง 3 รูป จะได้รับใบตอบของนักเรียนรูปละ 1 ปึก ดังนั้น ทุกรูปก็จะเป็นผู้ลงนามเก็บหรือให้คะแนนเป็นรูปแรกในปึกของตนเอง และเป็นผู้ลงนามรูปที่ 2 และรูปที่ 3 ในปึกของกรรมการรูปอื่นๆ ในกองเดียวกัน ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ทุกรูปทุกวิชา ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอนำการตรวจข้อสอบในกรณีต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้กรรมการและผู้ที่กำลังจะเป็นกรรมการในอนาคต ได้ศึกษารูปแบบ แล้วนําประยุกต์ใช้ให้เกิด ประโยชน์ในการตรวจข้อสอบตามสมควร
ก. กรรมการรูปที่ 1 ตรวจใบตอบของนักเรียนรูปหนึ่งถูกเก็บ 5 คะแนน ถือว่าได้ 3 ให้ และกรรมการรูปที่ 2,3 (ทุกรูป) ก็เห็นตรงกันให้ปฏิบัติดังนี้ ให้-ให้-ให้ (รูปที่ 1)
ตัวอย่าง
รูปที่ 1
ข. กรรมการรูปที่ 1 ตรวจใบตอบของนักเรียนรูปหนึ่งถูกเก็บ 10 คะแนน ถือว่าได้ 2 ให้ และกรรมการรูปที่ 2, 3 (ทุกรูป) ก็เห็นตรงกัน ให้ปฏิบัติดังนี้ ให้- ให้- 0 (รูปที่ 2)
ตัวอย่าง
รูปที่ 2
ค. กรรมการรูปที่ 1 ตรวจใบตอบของนักเรียนรูปหนึ่งถูกเก็บ 17 คะแนน ถือว่าได้ 1 ให้ และกรรมการรูปที่ 2, 3 (ทุกรูป) เห็นตรงกันให้ปฏิบัติดังนี้
ให้- 0 - 0 (รูปที่3)
ตัวอย่าง
รูปที่ 3
ง. กรรมการรูปที่ 1 ตรวจใบตอบของนักเรียนรูปหนึ่ง สมมติว่ามีทั้งหมด 4 หน้า แต่ตรวจไปได้ประมาณ 2 หน้า อาจจะถูกเก็บเกิน 18 มาประมาณ 4-5 คะแนน เช่น 19-20-21-22-23 เป็นต้น ไปแล้ว ทดลองพิจารณาใคร่ครวญดูอีก 2 หน้าที่เหลือ ทั้งนี้ เพื่อที่จะดูว่าลักษณะการทําปัญหาเป็นอย่างไร หากยังสับสน ไม่ได้ความเหมือนเดิม ถ้าเก็บคะแนนอีก ก็อาจจะได้ถึง 30-40 คะแนนก็ได้ อย่างนี้ถือว่าไม่ผ่าน ได้ 0 และกรรมการที่ 2, 3 (ทุกรูป) เห็นตรงกัน
ให้ปฏิบัติ ดังนี้ 0-0-0 (รูปที่ 4)
ตัวอย่าง
รูปที่ 4
ข้อควรทราบของกรรมการผู้ตรวจข้อสอบ
- ในวันแรกของการตรวจข้อสอบ ทางกองบาลีสนามหลวงจักถวายปากกา (เคมี) แก่กรรมการแต่ละรูป โดยปากกาสําหรับตรวจข้อสอบนั้นจะมีทั้งหมด 3 สี คือ สีแดง 1 สีนํ้าเงิน 1 สีดํา 1 วางไว้บนโต๊ะๆ ละ 3 ด้ามๆ ละสี (เท่ากับจํานวนกรรมการ 1 กอง มีทั้งหมด 3 รูป) เพื่อถวายให้แก่กรรมการรูปละ 1 ด้าม (สีต่างกัน) ให้นํามาด้วยตลอดทั้ง 5 วัน
- ในการเขียนคะแนนที่ถูกหักของใบตอบแต่ละฉบับ เช่น 5, 10, 12, เกิน 18 ให้เขียนไว้ด้านมุมขวามือของใบตอบทุกใบ แต่ที่สําคัญ อย่าเขียนคะแนนดังกล่าวทับเลขรหัสในใบตอบ ซึ่งจะประทับอยู่บนมุมด้านขวาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการถูกลบ และการเลอะเลือนของเลขรหัส อีกทั้ง ยังเป็นการอํานวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่สนามหลวงแผนกบาลีในการรวมผลการสอบอีกด้วย
- ในการให้คะแนนและการลงนามกํากับ ให้เขียนไว้ตรงมุมด้านซ้าย โดยเฉพาะฉบับแรกของใบตอบทุกปึก ต้องเขียนชื่อจริงให้ชัดเจน เช่น ให้ พระมหาวีระ วิริโย (ให้ ไปทางขวามือ) ใบตอบของนักเรียนรูปต่อๆ ไปจะใช้ลายเซ็นก็ได้
การตรวจวิชาบาลีไวยากรณ์
ปัญหาวิชาบาลีไวยากรณ์ของทั้ง ประโยค 1-2 และประโยค ป.ธ. 3 จะมีทั้งหมด เท่ากัน ข้อสอบทั้งหมดจะมี7 ข้อ ให้คะแนนข้อละ 10 คะแนน อย่างไรก็ตาม ลักษณะของปัญหาโดยทั่วๆ ถึงจะมี 7 ข้อก็จริง แต่ในส่วนใหญ่จะเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ
- ปัญหาทั้ง 7 ข้อนั้น บางข้ออาจจะมีข้อย่อย เช่น ก,ข,ค เป็นต้น ประกอบด้วยก็ได้
- ปัญหาบางข้อ แม้จะไม่มีข้อย่อยประกอบ ก็จะเป็นไปในลักษณะที่ว่า มีข้อเดียว แต่หลายคําถาม เช่น ในโคตตตัทธิต มีปัจจัยเท่าไร ? อะไรบ้าง ? ปูชนีโย, สติมา,ทฺวิธา ลงปัจจัยอะไร ? ในตัทธิตไหน ? (ข้อเดียว คําถามเดียวไม่ค่อยมีปรากฏ)
เมื่อทราบถึงลักษณะปัญหาแล้ว ประเด็นต่อมาที่ควรพิจารณาก็คือ ในกรณีที่เป็นข้อย่อย หรือคําถาม 2 คําถามนั้น การแบ่งเก็บคะแนนก็สะดวก คือ แบ่งข้อละ 5 คะแนน 2 ข้อ (2 คําถาม) ก็รวมเป็น 10 คะแนน แต่ถ้ามีข้อย่อยเป็น 3 ข้อ (ก,ข,ค) หรือ 3 คําถาม การแบ่งให้คะแนนก็ไม่ลงตัว เพราะถ้าให้ข้อละ 3 คะแนน ก็จะรวมคะแนนในข้อได้แค่ 9 เศษอยู่ 1 คะแนน
ดังนั้น จึงเป็นภาระธุระของกรรมการที่จะต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์เพื่อวินิจฉัยว่า จะให้คะแนนอย่างไร ซึ่งอาจจะพิจารณาดังนี้ คือ ในจำนวน 3 ข้อนั้น ข้อย่อยในข้อใดที่เราเองคิดว่า ยากที่สุด ก็ให้น้ำหนักของคะแนนในข้อนั้นเป็น 4 คะแนน ส่วน 2 ข้อย่อยที่เหลือ อาจจะให้ข้อละ 3 คะแนน รวมเป็น 6 เมื่อ 4+6 = 10 อันเป็นคะแนนเต็มของข้อนั้น
เมื่อได้แนวทางเบื้องต้นเกี่ยวกับการให้คะแนนแล้ว สิ่งที่ควรทราบต่อมาก็คือการเก็บคะแนน ซึ่งก็ถือหลักการเดียวกับการตรวจวิชาอื่นๆ กล่าวคือ การเก็บคะแนนในแต่ละข้อ จะเขียนจํานวนคะแนนที่ถูกเก็บนั้นลงด้านขวามือของข้อนั้นๆ
สมมติว่า การตอบในข้อ 1 มีส่วนที่ตอบถูก 6 คะแนน ก็จะเหลือส่วนที่จะต้องถูกเก็บ 4 คะแนน และให้เขียนเฉพาะ 4 คะแนนนี้เท่านั้น ลงในใบตอบของข้อนั้น (คะแนนถูกไม่ต้องเขียนลงในใบตอบ) ปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยไปจนครบทั้ง 7 ข้อ แล้วรวมคะแนนที่ถูกเก็บมากบ้างน้อยบ้างในภายใน 7 ข้อนั้น มารวมไว้มุมด้านขวามือ และให้คะแนนพร้อมทั้งเซ็นชื่อกํากับ ในด้านซ้าย กรรมการทั้ง 3 รูป ปฏิบัติเช่นเดียวกับการตรวจวิชาอื่นๆ ดังตัวอย่างที่จะยกมาแสดงบางข้อ (รูปที่ 5 และรูปที่ 6) เช่น
ตัวอย่าง
รูปที่ 5
รูปที่ 6
ปฏิทินการศึกษาประจําปี (การสอบและตรวจข้อสอบ)
ครั้งที่ 1
ครั้งแรก
ประโยค ป.ธ.6 วันขึ้น 2, 3 คํ่า เดือน 3
ประโยค ป.ธ.7 วันขึ้น 2, 3 คํ่า เดือน 3
ประโยค ป.ธ.8 วันขึ้น 4, 5, 6 คํ่า เดือน 3
ประโยค ป.ธ.9 วันขึ้น 4, 5, 6 คํ่า เดือน 3
ครั้งหลัง
ประโยค 1-2 วันแรม 10, 11 คํ่า เดือน 3
ประโยค ป.ธ.3 วันแรม 10, 11, 12 คํ่า เดือน 3
ประโยค ป.ธ.4 วันแรม 10, 11 คํ่า เดือน 3
ประโยค ป.ธ.5 วันแรม 10, 11 คํ่า เดือน 3
รวมตรวจพร้อมกันทุกประโยคในการสอบครั้งที่ 1 วันแรม 2 - 6 คํ่า เดือน 4
ประกาศผลสอบครั้งที่ 1 วันแรม 6 คํ่า เดือน 4
ครั้งที่ 2
ประโยค 1-2 วันแรม 10, 11 คํ่า เดือน 5
ประโยค ป.ธ.3 วันแรม 10, 11, 12 คํ่า เดือน 5
ประโยค ป.ธ.4 วันแรม 10, 11 คํ่า เดือน 5
ประโยค ป.ธ.5 วันแรม 10, 11 คํ่า เดือน 5
เฉลยข้อสอบ วันขึ้น 1 คํ่า เดือน 6
ตรวจข้อสอบ วันขึ้น 10 คํ่า เดือน 6
ประกาศผลสอบ วันขึ้น 13 คํ่า เดือน 6
เริ่มสอบเวลา 12.30 นาฬิกาตรง ทุกวัน
สนามหลวงแผนกบาลี วัดปากนํ้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2869-0485, 0-2869-0487 โทรสาร 0-2869-0484
infopali.net email : webmaster@infopali.net, pali_stat@hotmail.com
ความคิดเห็น